โฟลิก โฟเลต เพื่อลูกรัก (ตอนที่ 2)

โฟลิกโฟเลตเพื่อลูกรัก

สำหรับการทำงานของ สสส. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้จัดการ สสส. กล่าวให้ทราบว่า สสส.จะเน้นการป้องกันก่อนรักษา โดยการจัดทำชุดความรู้และพัฒนาให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ 22 จังหวัด โดยหน่วยบริการสุขภาพได้ให้ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยวิตามินโฟลิกแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มารับบริการสุขภาพ และให้ความรู้ในสถานศึกษา

พร้อมกับทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมการกินอาหารและผักใบเขียวที่มีโฟแลตสูง ตลอดจนความร่วมมือจากกรมการปกครองและกรุงเทพมหานครที่เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายคือ หญิงที่มาจดทะเบียนสมรสที่ต้องการจะมีบุตรเพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดตั้งแต่ต้นทาง

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความร่วมมือกับสสส. และสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด โดยจะใช้โอกาสแนะนำคู่รักที่มาจดทะเบียนสมรสที่ว่าการอำเภอหรือที่ว่าการเขตกทม. ซึ่งในแต่ละปีมีคู่สมรสมาจดทะเบียนประมาณ 307,746 คู่ และในกทม.มีจำนวน 3,400 กว่าคู่ ให้ได้รับความรู้ในเรื่องของ วิตามินโฟลิกแก่คู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรอย่างละเอียดตามหลักการขององค์การอนามัยโลก

นายชำนาญวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากคิดตามปริมาณโฟลิกที่สมาคมแนะนำให้หญิงที่ต้องการจะมีบุตรรับประทานคือ วันละเม็ด ตั้งแต่ก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง เท่ากับ 180 วัน ซึ่งเฉลี่ยราคาเม็ดละ 1 บาท เท่ากับเราจ่ายเงินเพื่อป้องกันความพิการเพียง 180 บาทเท่านั้น เพื่อให้ได้เด็กที่มีคุณภาพ

และหากประชาชนคนใดที่ไม่มีเงินก็สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน เพราะโรงพยาบาลจะจ่ายยาเหล่านี้ฟรี จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะนับว่าไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องใช้เงินลงทุนมากนัก ต่อการที่จะทำให้ลูกที่จะเกิดขึ้นเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นดวงใจของพ่อและแม่ต่อไปในอนาคต

โฟเลต (Folate) เป็นชื่อเรียกของวิตามินบี 9 ที่สามารถละลายได้ในน้ำ พบได้ในอาหารตามธรรมชาติ ในขณะที่กรดโฟลิค (Folic acid) เป็นวิตามินที่ถูกสังเคราะห์โดยมนุษย์ มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับโฟเลต (Folate) โดยวิตามินบี 9 มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์และกระบวนการสร้างและสลาย หรือที่เรียกกันว่า กระบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism)

การขาดโฟเลต (Folate deficiency) สามารถทำให้เกิด

  • อาการปวด เป็นแผลที่ลิ้นและเยื่อเมือกในช่องปาก (Oral mucosa)
  • สีของ ผิวหนัง ผม และเล็บมือ เปลี่ยนไป
  • มีระดับโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) ในเลือดสูง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจที่มากขึ้น
  • ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงของการพิการทางสมอง (Neural tube defect = NTD)

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการขาดโฟเลต ได้แก่

  • ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์
  • หญิงในวัยที่มีบุตรได้ (Women of childbearing age)
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของการดูดซึมอาหาร (Malabsorptive disorder)
  • ผู้ที่เป็นโรคไตหรือโรคตับ

บรรณานุกรม

1. สร้างทายาทคุณภาพ ด้วย ‘โฟลิก’. http://www.thaihealth.or.th/Content/35413-สร้างทายาทคุณภาพ ด้วย ‘โฟลิก’.html [2017, March 7].

2. Folate (Folic Acid). http://www.webmd.com/diet/supplement-guide-folic-acid#1 [2017, March 7].

3. Folate. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Folate-HealthProfessional/ [2017, March 7].