โพรพอกซิฟีน (Propoxyphene)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรพอกซิฟีน (Propoxyphene) เป็นยาบรรเทาปวดที่จัดอยู่ในประเภทยาเสพติด สามารถแบ่งย่อยตามโครงสร้างทางเคมีเป็น เดกซ์โทรโพรพอกซิฟีน (Dextropropoxyphene) ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด และเลโวโพรพอกซิฟีน (Levopropoxyphene) ซึ่งใช้บรรเทาอาการไอโดยมีประสิทธิภาพบรรเทาปวดได้ไม่ดี บางสูตรตำรับของยาโพรพอกซิฟีนได้นำเอายา Aspirin หรือ Acetaminophen มาผสมเป็นส่วนประกอบกัน ฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดของเดกซ์โทรโพรพอก ซิฟีนสามารถออกฤทธิ์บรรเทาปวดได้ใกล้เคียงกับ Codeine ด้วยที่มีฤทธิ์เสพติดการใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น บางสถานพยาบาลแพทย์ได้ใช้ยานี้บรรเทากลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) อีกด้วย

มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะจะให้ใช้ยานี้คือ ผู้ที่เคยคิดฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยโรควิตกกังวล ผู้ที่มีอา การคลุ้มคลั่ง รวมถึงผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดอยู่แล้ว สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดที่สมองจึงทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดบรรเทาลงแต่มิได้รักษาต้นเหตุของอาการปวดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การออกฤทธิ์ที่สมองของยานี้ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆต่อเนื่องติดตามมา โดยยานี้จะทำให้เกิดภาวะสงบประสาท/ระงับประสาท และสามารถกดศูนย์ควบคุมการหายใจของคนเราทำให้หายใจได้ช้าและหายใจเบาจนอาจถึงหยุดหายใจได้ การได้รับยานี้เกินขนาดสามารถทำให้เกิดภาวะสิ้นสติ/โคม่าและหยุดหายใจในที่สุด อาจถึงเสียชีวิต (ตาย)ได้

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) อื่นที่พบเห็นได้บ่อยจะเป็นเรื่องท้องผูก มีผื่นคัน ง่วงนอน เจ็บคอ ส่วนอาการข้างเคียงที่ดูว่าร้ายแรงที่สุดจะเป็นเรื่องของการทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ

จากผลข้างเคียงที่ตัวยานี้กดการหายใจและทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจึงยกเลิกการใช้ยานี้

รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่สามารถพบเห็นได้ของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาฉีด และยาเหน็บทวาร หลังการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 78% ก่อนที่จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 - 12 ชั่วโมงเพื่อการกำจัดยาครึ่งหนึ่งออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ยานี้ยังสามารถซึมผ่านเข้าในรกและน้ำนมมารดาจึงไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง

การจ่ายยาเสพติดเพื่อบำบัดอาการปวดนั้นจะกระทำได้เฉพาะในสถานพยาบาลโดยต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์กำกับและบันทึกลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ตรวจสอบประวัติและช่วยสืบค้นการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละราย

โพรพอกซิฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โพรพอกซิฟีน

ยาโพรพอกซิฟีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดตั้งแต่ปวดไม่มาก/ปวดระดับต่ำจนถึงปวดระดับกลาง

โพรพอกซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรพอกซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดในสมองที่เรียกว่า Opioid receptors ส่งผลทำให้ร่างกายรู้สึกทนต่ออาการเจ็บปวดได้ดียิ่งขึ้น

โพรพอกซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรพอกซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 65 มิลลิกรัม/ยาแคปซูล

โพรพอกซิฟีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรพอกซิฟีนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 65 มิลลิกรัม (ถ้าเป็นตัวยา Propoxyphene hydrochloride) ทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม (ถ้าเป็นตัวยาPropoxyphene Napsylate)ทุกๆ 4 ชั่วโมง ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และต้องรับประทานยานี้ให้ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

    อนึ่ง รูปแบบโครงสร้างทางเคมีของตัวยาทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันที่สารที่นำมาประกอบตัวยา ซึ่ง Propoxyphene hydrochloride จะออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ดังนั้นทางคลีนิกจึงพบว่าการออกฤทธิ์ของ Propoxyphene hydrochloride 65 มิลลิกรัมสามารถบรรเทาอาการปวดเทียบเท่ากับ Propoxyphene Napsylate 100 มิลลิกรัม

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กจึงไม่มีขนาดการใช้ยาของเด็ก และถือเป็นข้อห้ามใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพรพอกซิฟีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรพอกซิฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรพอกซิฟีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โพรพอกซิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรพอกซิฟีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ปวดท้อง หนาวสั่น อุจจาระมีสีคล้ำ มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย อา เจียนเป็นเลือด ผิวหนังและนัยน์ตาเป็นสีเหลือง ในบางกรณีเกิดอาการปัสสาวะเป็นเลือด ท้องผูก สับสน อึดอัด/หายใจลำบาก ง่วงนอน เป็นลม ปวดตามข้อ และมีอาการบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

*สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการเล็บเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ มีอาการชัก ไอ ผิวมีสีซีด ม่านตาขยาย หายใจเร็ว พูดไม่ชัด น้ำหนักลด หากพบอาการเหล่านี้ควรนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โพรพอกซิฟีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพอกซิฟีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เคยติดยาเสพติด ผู้ที่มีเคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคหืด ผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรพอกซิฟีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โพรพอกซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรพอกซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาโพรพอกซิฟีนร่วมกับยา Dexchlorpheniramine/Chlorpheniramine, Hydroco done, Codeine, Diphenhydramine อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาโพรพอก ซิฟีนติดตามมาได้มากเช่น วิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดการครองสติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโพรพอกซิฟีนร่วมกับยา Hyoscyamine สามารถเพิ่มอาการข้างเคียงของยาทั้ง 2 ตัว เช่น เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน การครองสติลำบาก ปากแห้ง เป็นตะคริวที่ท้อง และท้องผูก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโพรพอกซิฟีนร่วมกับยาแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโพรพอกซิฟีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโพรพอกซิฟีนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โพรพอกซิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรพอกซิฟีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Darvon-N (ดาร์วอน-เอน) AAIPharma
Propoxyphene hydrochloride Teva Pharmaceuticals USA

บรรณานุกรม

  1. http://www.medicinenet.com/propoxyphene/article.html [2015,Aug22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dextropropoxyphene [2015,Aug22]
  3. http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Dextropropoxyphene [2015,Aug22]
  4. http://www.drugs.com/dosage/propoxyphene.html [2015,Aug22]
  5. http://www.drugs.com/imprints/lilly-darvon-n-100-1735.html [2015,Aug22]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/propoxyphene,darvon-n-index.html?filter=2 [2015,Aug22]
  7. http://www.rxlist.com/darvon-drug/overdosage-contraindications.html [2015,Aug22]