โปรเจสติน (Progestins)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 โปรเจสติน (Progestins)  คือ ยาที่เป็นฮอร์โมนโปรเจสโตเจนสังเคราะห์ (Synthetic progestogen) สามารถออกฤทธิ์ได้คล้ายกับฮอร์โมนเพศในร่างกายโดยเฉพาะกับสตรี ประโยชน์ทางคลินิกที่ถูกนำ มาใช้อย่างเป็นทางการคือ ใช้เป็นยาคุมกำเนิดโดยใช้เป็นลักษณะฮอร์โมนเดี่ยวหรือผสมร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ได้ ประโยชน์อีกประการได้แก่ การนำยาโปรเจสตินมาป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, บางกรณียาโปรเจสตินก็ยังถูกนำไปใช้บำบัดอาการจากภาวะขาดประจำเดือน, ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก/เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ, โรคมะเร็งไต, มะเร็งเต้านม, และมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาจจำแนกยาฮอร์โมนโปรเจสตินออกเป็นรุ่น(Generation)ของยาโดยอาศัยการพัฒนาและค้นพบได้ตามลำดับต่อไปนี้

  • โปรเจสติน รุ่นที่ 1: เช่น Ethisterone, Norethisterone, Norethisterone acetate, Norethynodrel, Etynodiol diacetate, Medroxyprogesterone acetate, Megestrol acetate
  • โปรเจสติน รุ่นที่ 2: เช่น Norgestrel, Levonorgestrel
  • โปรเจสติน รุ่นที่ 3: เช่น Norgestimate, Norelgestromin, Desogestrel, Etonogestrel,
  • โปรเจสติน รุ่นที่ 4: เช่น Dienogest, Drospirenone, Nestorone, Nomegestrol acetate,Trimegestone

ทั้งนี้การนำยาโปรเจสตินผสมร่วมกับเอสโตรเจนในสัดส่วนของฮอร์โมนที่แตกต่างกันได้ประสบความสำเร็จในการคุมกำเนิดเป็นอย่างมากโดยมีการคำนวณระยะเวลาของการใช้ฮอร์โมนผสมเป็นเวลา 20 หรือ 21 วันและหยุดการใช้ 7 - 8 วันเพื่อให้สัมพันธ์กับรอบประจำเดือนในเพศหญิง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโปรเจสตินที่พบเห็นการใช้บ่อยๆได้แก่ ยาเม็ดชนิดรับประทาน  ยาฉีดชนิดเข้ากล้ามเนื้อ หรือใช้เป็นชนิดยาฝังคุมกำเนิด เป็นต้น

ยาโปรเจสตินมีกลไกการออกฤทธิ์หลายขั้นตอนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทางคลินิก สามารถสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้ เช่น

  • ช่วยควบคุมการมีรอบเดือน/รอบประจำเดือนได้อย่างเหมาะสมตรงเวลา
  • ช่วยป้องกันมิให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนแสดงฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเยื่อบุมดลูกให้มีชั้นที่หนา หรือเจริญจนเกินไป
  • บำบัดอาการปวดประจำเดือนอันเนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ช่วยบำบัดอาการ มะเร็งเต้านม  มะเร็งไต หรือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยยาโปรเจสตินจะปรับเปลี่ยนความสามารถของเซลล์มะเร็งไม่ให้ตอบสนองกับฮอร์โมนอื่นๆในร่างกาย ด้วยกลไกนี้ทำให้เซลล์มะเร็งเหล่านั้นหยุดการเจริญเติบโตได้
  • ใช้ยาโปรเจสตินเป็นตัวทดสอบว่าร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนชนิดอื่นๆ อย่างเช่น Estrogen หรือไม่
  • ช่วยบำบัดภาวะเบื่ออาหาร และมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงในผู้ป่วยเอดส์

การจะใช้ยาโปรเจสตินในลักษณะใดควรต้องขึ้นอยู่กับแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ข้อจำกัดหลาย                    ประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้โปรเจสตินในการรักษาอาการของผู้ป่วยได้เพราะการใช้ยา               โปเจสตินจะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง เช่น

  • เป็นผู้ป่วย โรคหืด โรคลมชัก โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีการไหลเวียนเลือดในร่างกายผิดปกติ เป็นโรคไตขั้นรุนแรง หรือป่วยด้วยโรคไมเกรน
  • มีภาวะเลือดประจำเดือนออกผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดอุดตัน
  • เป็นผู้ที่เป็นหลอดเลือดขอดในบริเวณขา/หลอดเลือดดำขอด
  • เป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับ
  • เป็นผู้ป่วยความจำเสื่อม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีเงื่อนไขทางสุขภาพอย่างมากมายที่เป็นข้อห้ามและข้อควรระวังก่อนการ ใช้ยาโปรเจสติน ผู้บริโภคจึงไม่ควรไปซื้อหายาโปรเจสตินมารับประทานเองโดยมิได้มีการปรึกษากับแพทย์ หรือการใช้ยาฮอร์โมนนี้เป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป ล้วนแล้วจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีทั้งสิ้น

โปรเจสตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โปรเจสติน

ยาโปรเจสตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์
  • ช่วยให้รอบประจำเดือนเป็นไปอย่างปกติ
  • ป้องกันการหนาตัวจนเกินไปของเยื่อบุมดลูก

โปรเจสตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรเจสตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ของร่างกายโดยยาจะ     กระจายตัวไปตามแกนระบบประสาท ที่เรียกว่า ไฮโปธาลามิก-พิทูอิทารี-อะดรีนัล (Hypothalamic-Pituitary-Adrenal axis, แกนหรือวงจรที่ควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมใต้สมอง, ต่อมหมวกไต) ซึ่งจะรบกวนกระบวนการเจริญพันธุ์รวมถึงปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกายอย่างเหมาะสม ด้วยกระบวนการดังกล่าวจะช่วยยับยั้ง/ป้องกันการตกไข่ บำบัดรักษากลุ่มเซลล์มะเร็งบางประเภทมิให้เจริญเติบโตและลุกลาม จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

โปรเจสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปรเจสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:        

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานทั้งประเภทยาเดี่ยวและยาที่ผสมร่วมกับฮอร์โมนเพศตัวอื่น
  • ยาฉีดคุมกำเนิด
  • ยาฝังคุมกำเนิด

โปรเจสตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโปรเจสติน ทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีดมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันไปทั้งนี้ขึ้นกับอาการแต่ละโรคและการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย การบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น 

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโปรเจสติน ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรเจสตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโปรเจสติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโปรเจสตินให้ตรงเวลา

โปรเจสตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโปรเจสตินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีประจำเดือนมามากในช่วงการใช้ยาแรกๆ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
  • มีอาการปากคอแห้ง
  • ปัสสาวะบ่อย
  • เบื่ออาหาร
  • กระหายน้ำ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • การพูดไม่ชัด การมองเห็นภาพผิดปกติ
  • อึดอัด/หายใจลำบาก
  • วิงเวียน
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • เป็นตะคริวที่ท้อง
  • เท้าบวม
  • ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น
  • ง่วงนอน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • หงุดหงิด
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม

มีข้อควรระวังการใช้โปรเจสตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเจสติน  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • หยุดการใช้ยานี้หากพบว่ามีประจำเดือนไหลไม่หยุดหรือไม่มีประจำเดือนภายหลังใช้ยาไปแล้ว 45 วัน แล้วกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทันทีกรณีเลือดประจำเดือนออกมากหรือออกไม่หยุด
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานเช่น เพิ่มหรือลดปริมาณด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคไมเกรน ผู้ป่วย โรคตับ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยดีซ่าน ผู้ที่เป็นหลอดเลือดดำขอด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยความจำเสื่อม
  • หากเป็นยารับประทานควรรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา
  • ไม่ใช้ยานี้นานกว่าคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโปรเจสตินด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โปรเจสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโปรเจสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโปรเจสติน ร่วมกับยา Acarbose ในผู้ป่วยโรคเบาหวานจะทำให้ประสิทธิภาพของยา Acarbose ด้อยลงไป กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโปรเจสติน ร่วมกับยา Butalbital (ยานอนหลับ) จะทำให้ระดับยาโปเจสตินในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการมีประจำเดือนมาเร็วผิดปกติหรือเกิดภาวะตั้งครรภ์ติดตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโปรเจสติน ร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้ระดับโปรเจสตินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโปรเจสตินอย่างไร?

 ควรเก็บยาโปรเจสติน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยา ในรถยนต์ หรือ ในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โปรเจสตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปรเจสติน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Anna (แอนนา) Thai Nakorn Patana
Cleo (คลีโอ) Millimed
Cyclo Progynova (ไซโคล โพรจีโนวา) Bayer HealthCare Pharma
Dior 21 (ดิออร์ 21) Thai Nakorn Patana
Dior 28 (ดิออร์ 28) Thai Nakorn Patana
Hyan (ไฮแอน) Famy Care
Jadelle (จาเดลเล) Bayer HealthCare Pharma
Jeny-FMP (เจนี-เอฟเอ็มพี) Thai Nakorn Patana
Madonna (มาดอนนา) Biolab
Mirena (ไมรีนา) Bayer HealthCare Pharma
Microgynon 30 ED (ไมโครกายนอน 30 อีดี) Bayer HealthCare Pharma
Postinor-2 (โพสทินอร์-2) Gedeon Richter
R-Den (อาร์-เดน) Thai Nakorn Patana
Triquilar ED (ไตรควิลาร์ อีดี) Bayer HealthCare Pharma
Megace (เมเกซ) Bristol-Myers Squibb
Implanon NXT (อิมพลานอน เอนเอ็กที) MSD

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Progestogen_(medication)#Classification_by_structure  [2022,May7]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/progestins.html  [2022,May7]
  3. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/progestin-oral-route-parenteral-route-vaginal-route/description/drg-20069443  [2022,May7]
  4. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11861052/  [2022,May7]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/progesterone-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,May7]