โปรตีนสิ่งสำคัญของร่างกาย (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

โปรตีนสิ่งสำคัญของร่างกาย

เวย์โปรตีน (Whey protein) เป็นโปรตีนที่ได้จากหางนม เป็นส่วนน้ำของนมที่แยกจากนมส่วนที่แข็งตัวในการทำเนยแข็ง

เรามักใช้เวย์โปรตีนในการเพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬา ใช้เป็นอาหารเสริม (Food supplement) ใช้เป็นทางเลือกคนที่แพ้น้ำตาลแล็กโทส (Lactose intolerance) ใช้ในการเพิ่มน้ำหนักและเพิ่มกลูตาไธโอน (Glutathione = GSH) ในคนที่ติดเชื้อเฮชไอวี [กลูตาไธโอน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญของร่างกาย]

นอกจากนี้ยังมีการใช้เวย์โปรตีนกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด คลอเรสเตอรอลสูง เป็นโรคอ้วน เป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายและมะเร็งลำไส้

เวย์โปรตีนเป็นแหล่งโปรตีนที่ช่วยเพิ่มสารอาหาร และอาจมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างการ จากการศึกษาถึงประโยชน์และประสิทธิผลของเวย์โปรตีน พบว่า

ประสิทธิผลที่เป็นไปได้ (Possibly Effective) เช่น

  • เด็กทารกที่กินเวย์โปรตีนในช่วง 3-12 เดือนแรก จะมีความเสี่ยงน้อยในการมีผื่นคันและแดงในช่วงอายุถึง 3 ปี
  • เด็กทารกที่กินเวย์โปรตีนในช่วง 3-12 เดือนแรก จะมีความเสี่ยงน้อยในการเป็นภูมิแพ้เมื่อเทียบกับเด็กที่กินนมสูตรปกติ อย่างไรก็ดีการใช้เวย์โปรตีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ (Atopic diseases) เมื่อตอนโต อาจไม่ได้ผลนัก
  • เวย์โปรตีนสามารถช่วยหยุดน้ำหนักตัวที่ลดลงในคนที่ติดเชื้อเฮชไอวีหรือคนที่เป็นเอดส์
  • ผลการศึกษาบางฉบับระบุว่า เวย์โปรตีนเข้มข้นบางชนิดสามารถช่วยลดอาการของโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ได้เมื่อกินติดต่อกันนาน 8 สัปดาห์

ประสิทธิผลที่เป็นไปไม่ได้ (Possibly Ineffective) เช่น

  • คนที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) การกินอาหารเสริมเวย์โปรตีนทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ สามารถช่วยทำให้หายใจดีขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าปอดจะทำงานได้ดี
  • ผู้หญิงวัยหมดระดูที่มีปัญหาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ที่กินเครื่องดื่มผสมเวย์โปรตีนทุกวันเป็นเวลา 2 ปี ไม่ได้ช่วยทำให้มวลกระดูกดีขึ้น
  • เวย์โปรตีนไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักในเด็กวัยรุ่นที่กินเวย์โปรตีนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ตรงข้ามกลับทำให้น้ำหนักและดัชนีมวลกาย (Body mass index = BMI) เพิ่มขึ้น
  • เวย์โปรตีนค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่กินอย่างถูกต้อง การกินเวย์โปรตีนที่มากไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องปั่นป่วน คลื่นไส้ กระหายน้ำ ท้องอืด (Bloating) เป็นตะคริว (Cramp) เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ

    คนที่แพ้นมวัวควรหลีกเลี่ยงการกินเวย์โปรตีน และเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าปลอดภัยต่อหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรหรือไม่ ดังนั้นจึงหญิงเหล่านี้จึงควรหลีกเลี่ยงการกินเวย์โปรตีนด้วย

    นอกจากนี้ควรระวังเรื่องเวย์โปรตีนทำปฏิกริยากับยาชนิดอื่น เพราะอาจไปลดการทำงานของยาอื่นได้ เช่น Levodopa ยา Alendronate ยาปฏิชีวนะ Quinolone และ ยาปฏิชีวนะ Tetracycline เป็นต้น

    แหล่งข้อมูล

    1. WHEY PROTEIN. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-833-whey%20protein.aspx?activeingredientid=833&activeingredientname=whey%20protein[2016, January 20