โซดาไฟ (Caustic soda)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โซดาไฟ หรือ โซดาแผดเผา หรือ คอสติกโซดา(Caustic soda) เป็นสารประกอบ อนินทรีย์ที่มีสูตรเคมี NaOH(Sodium hydroxide) มีลักษณะเป็นของแข็งไม่มีสี มีฤทธิ์เป็นด่างสูงมาก สามารถทำลายเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต และเกิดปฏิกิริยาคายความร้อนเมื่อนำมาละลายน้ำ การเก็บรักษาจึงต้องอยู่ในที่แห้งหรือมีความชื้นต่ำและอยู่ในภาชนะที่มิดชิด โซดาไฟถูกนำมาในกระบวนการอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การผลิตกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตน้ำดื่ม การทำสบู่ ผงซักฟอก และเคมีภัณฑ์ที่ใช้กำจัดสิ่งปฏิกูลในห้องน้ำ-ท่อระบายน้ำ

ทั่วไปกล่าวได้ว่า โซดาไฟ เป็นสารเคมีที่รู้จักกันดีในหมู่คนทั่วโลก อย่างไรก็ตามการใช้งานโซดาไฟในชีวิตประจำวัน ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ร่วมกับใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลชนิดต่างๆมาประกอบกัน

อนึ่ง:

  • พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เรียก โซดาไฟ อีกชื่อว่า “โซดาแผดเผา” หมายถึง สารประกอบชนิดหนึ่งชื่อ โซเดียมไฮดรอกไซด์(NaOH) เป็นของแข็งสีขาว ดูดความชื้นดีมาก ละลายน้ำได้ดี ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมทำสบู่ ไหมเรยอง, โซดาไฟ หรือ คอสติกโซดา (Caustic soda) ก็เรียก
  • โซดาไฟ เป็นสารเคมีคนละชนิดกับ เบกกิ้งโซดา/(Baking soda) หรือ ผงฟู (Baking powder) มีคุณสมบัติการใช้งานที่ต่างกันอย่างมาก รวมถึงโทษหรือความเป็นพิษต่อร่างกายด้วย อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ผงฟู”

คุณสมบัติทางกายภาพของโซดาไฟเป็นอย่างไร?

โซดาไฟ

คุณสมบัติ/ลักษณะทางกายภาพของโซดาไฟที่มองเห็นได้ชัดเจนจะมีลักษณะดังนี้

  • เป็นของแข็งคล้ายผลึกขุ่น ทึบแสง ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
  • จะหลอมละลายที่อุณหภูมิ 318 องศาเซลเซียส(Celsius)โดยไม่เสื่อมสลายและมีจุดเดือดที่อุณหภูมิ 1,388 องศาเซลเซียส
  • เมื่อละลายน้ำจะปลดปล่อยความร้อนสูงมาก เราจึงเรียกว่า “โซดาไฟ”
  • มีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.13 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร

โซดาไฟ สามารถต่อต้านฤทธิ์ของสารประกอบที่มีความเป็นกรดสูง หรืออาจจะใช้คำว่าโซดาไฟมีฤทธิ์สะเทิน(ทำให้เป็นกลาง)กับกรดก็ได้

ประโยชน์ของโซดาไฟมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป สรุปประโยชน์ของโซดาไฟทั้งในแวดวงอุตสาหกรรม และประโยชน์ใกล้ตัว ดังนี้

1. ใช้ในการผลิตกระดาษ โดยใช้โซดาไฟที่ละลายน้ำแปลงสภาพเนื้อไม้ให้เป็นเยื่อกระดาษ เราเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า Kraft process หรือ Kraft pulps

2. ใช้กับกระบวนการกำจัดน้ำเสีย โดยใช้โซดาไฟเพิ่มค่าความเป็นด่างให้กับน้ำเสียที่มีความเป็นกรดสูงๆ ก่อนที่จะปล่อยน้ำนั้นลงสู่แม่น้ำในธรรมชาติ

3. เมื่อนำโซดาไฟมาละลายน้ำจนเป็นสารละลายและนำไปผสมแร่บอกไซต์ (Bauxite, แร่ที่นำมาผลิต อะลูมิเนียม) ในถังที่มีแรงดันสูงภายใต้อุณหภูมิสูงราวๆ 150–200 องศาเซลเซียสจะทำให้ได้อะลูมิเนียมออกไซด์(Aluminium oxide)ออกมาเราเรียกกระบวนการนี้ว่า Bayer process

4. สารละลายโซดาไฟที่เตรียมเป็นความเข้มข้นอย่างเหมาะสม สามารถใช้ล้างทำความสะอาดเครื่องบรรจุและภาชนะบรรจุเครื่องดื่มบางประเภท

5. โซดาไฟ ถูกใช้กำจัดกำมะถันที่ปนมากับน้ำมันปิโตเลียมที่ขุดเจาะขึ้นมาจากใต้ดิน

6. ในอุตสาหกรรมยา ใช้โซดาไฟที่เตรียมเป็นสารละลายเพื่อควบคุมค่าความเป็นกรด-ด่างในกระบวนการผลิต หรือเพื่อทำความสะอาดและกำจัดคราบสกปรกของพื้นผนังในสถานที่ผลิต หรือใช้ในห้องทดลองเพื่อตรวจวัดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาบางประเภท

7. ใช้ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มบางประเภท

8. โซดาไฟ ถูกใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับของเครื่องสำอาง เช่น สบู่ น้ำหอม สีย้อมผม ยาทาเล็บ แชมพู น้ำยาโกนหนวด ครีมกันแดด และอื่นๆอีกมาก

9. ตามบ้านเรือนมักใช้โซดาไฟเพียงเล็กน้อยกรอกใส่ท่อน้ำที่อุดตัน แล้วเติมน้ำ ตามอย่างเหมาะสม ทิ้งเวลาพอประมาณจะทำให้กำจัดสิ่งอุดตันในท่อได้ดีในระดับหนึ่ง

โซดาไฟที่นำมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันข้างต้น จะมีความบริสุทธิ์หรือสิ่งเจือปนและราคาที่แตกต่างกันออกไป การเลือกใช้โซดาไฟที่มีความบริสุทธิต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของผู้นำโซดาไฟมาใช้งาน

ใช้โซดาไฟอย่างไรจึงจะปลอดภัย?

ตามกฎหมายไทย กำหนดให้โซดาไฟเป็นวัตถุอันตราย การซื้อขายในเชิงอุตสาหกรรมหรือเพื่อเป็นสินค้า ต้องได้รับการอนุญาต ผู้ผลิตต้องมีเอกสาร/คู่มือกำกับการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่มีโซดาไฟเป็นองค์ประกอบหรือที่เรียกกันว่า “คู่มือความปลอดภัย (Material safety data sheet/MSDS)” ผู้บริโภค/ผู้ใช้งานจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจและปฏิบัติตามขั้นตอนของคู่มือความปลอดภัยดังกล่าว ก่อนนำโซดาไฟไปใช้งาน และต้องใช้งานด้วยความเคร่งครัดตามขั้นตอนของคู่มือความปลอดภัยดังกล่าว

คู่มือความปลอดภัย (MSDS) ของโซดาไฟกล่าวถึงอะไรบ้าง?

ในคู่มือความปลอดภัยของโซดาไฟ จะมีหัวข้อต่างๆดังต่อไปนี้

1. ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อทางเคมี ประโยชน์ที่ใช้งาน และผู้จัดจำหน่าย

2. ส่วนประกอบสำคัญ เช่น Sodium hydroxide ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 97% หากมีส่วนประกอบอื่นก็ต้องถูกระบุมาด้วยกัน

3. ความเป็นพิษ เช่น ระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อ ตา ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และมักจะแจกแจงรายละเอียดของอาการพิษที่เกิดขึ้น

4. วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดความรุนแรงหรืออาการบาดเจ็บจากโซดาไฟ

5. เป็นสารไวไฟหรือไม่ ผู้ผลิตจะระบุความไวไฟของโซดาไฟมาในคู่มือความปอดภัย และกรณีเกิดเพลิงไหม้ การจะใช้น้ำในการดับไฟที่มีโซดาไฟอยู่ด้วยต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ความปลอดภัย เมื่อโซดาไฟผสมกับน้ำจะเกิดสารละลายที่มี ฤทธิ์กัดกร่อนอย่างรุนแรง

6. การประเมินสถานการณ์เมื่อเกิดการรั่วไหลของตัวผลิตภัณฑ์โซดาไฟ โดยกล่าวถึงวิธีการป้องกันมิให้โซดาไฟที่หกรั่วไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ตลอดจนวิธีการเก็บโซดาไฟได้อย่างปลอดภัยและไม่หลงเหลือจนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

7. วิธีการจัดเก็บ สถานที่จัดเก็บ รวมถึง การเปิดภาชนะบรรจุโซดาไฟเพื่อใช้งาน

8. การป้องกันส่วนบุคคลซึ่งจะกล่าวถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเมื่อต้องการปฏิบัติงานกับโซดาไฟ เช่น สวมแว่นนิรภัย ใส่ถุงมือยางนิรภัย ตลอดจนหน้ากากป้องกันสารเคมีมิให้กระเด็นใส่ใบหน้าและตา รวมถึงชุดเครื่องแบบที่ใช้ขณะปฏิบัติงานกับโซดาไฟ

9. คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของผลิตภัณฑ์โซดาไฟ

10. ข้อมูลด้านความคงตัวของผลิตภัณฑ์ฯ เช่น หลีกเลี่ยงการนำโซดาไฟไปจัดเก็บในที่เปียกและ/หรือมีความชื้นสูง ด้วยจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาได้อย่างรุนแรง

11. ความเป็นพิษ เช่น โซดาไฟมีฤทธิ์กัดกร่อน และก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อส่วนต่างๆของร่างกายที่สัมผัสสารนี้

12. ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ หากเกิดการปนเปื้อนของโซดาไฟในแม่น้ำลำคลอง จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น สัตว์น้ำ

13. การทำลายผลิตภัณฑ์ฯ มักกล่าวถึงขั้นตอนการนำส่งผลิตภัณฑ์ฯไปยังหน่วยงานที่รับทำลายขยะมีพิษ อาจเป็นบริษัทของเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานรัฐบาลอีกทีหนึ่ง

14. ขั้นตอนการขนส่งผลิตภัณฑ์ฯ พาหนะอย่างรถขนส่งจะต้องได้รับการอนุมัติ จากทางราชการ เช่น ระบุว่ารถคันนี้ใช้ขนส่งวัตถุอันตรายอย่างโซดาไฟ มีหมายเลขหรือรหัสที่ระบุถึงผลิตภัณฑ์ฯที่เป็นสากล เช่น UN1823 เป็นต้น

15. ข้อมูลควบคุมวัตถุอันตราย เช่น โซดาไฟของบริษัทนี้ได้รับการอนุมัติอย่างถูกต้องจากหน่วยงานกลางเช่น Occupational Safety and Health Administration (OSHA)

16. ข้อมูลอื่นที่ผู้บริโภค/ผู้ใช้งานควรทราบ

จะปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับอันตรายจากโซดาไฟอย่างไร?

ตัวอย่างการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับอันตรายจากโซดาไฟ เช่น

ก.กรณีกลืนโซดาไฟ: ถ้าผู้ป่วยยังมีสติ ให้ดื่มน้ำ เพื่อเจือจางโซดาไฟที่กลืนเข้าไป ห้ามทำให้อาเจียน เพราะโซดาไฟในอาเจียนจะทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นที่สัมผัสอาเจียน และพยายามรักษาร่างกายให้อบอุ่น และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ข. กรณีเข้าตา: ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยใช้น้ำเป็นปริมาณมากนานประมาณ 15 นาทีอย่างต่ำ พยายามเปิดปิดเปลือกตาและกรอกตาอย่างช้าๆเพื่อให้สิ่งปนเปื้อนหลุดไปกับน้ำ เมื่อมั่นใจว่าไม่มีสิ่งปนเปื้อนหลงเหลือในตาแล้ว ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ค. กรณีสัมผัสผิวหนัง: ให้ถอดเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ที่ปนเปื้อนโซดาไฟ จากนั้นล้างผิวหนังบริเวณที่สัมผัสโซดาไฟด้วยน้ำเป็นปริมาณมากนานประมาณ 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงอาการปวดแสบ-ปวดร้อนลดลง จากนั้นอาจใช้ผ้าพันแผล ผ้าสะอาดปิดบริเวณที่สัมผัสกับโซดาไฟ ห้ามสะเทิน(ทำให้เป็นกลาง) โซดาไฟที่เปรอะผิวหนังด้วยกรดต่างๆ กรณีที่อาการปวดแสบ-ปวดร้อนไม่ทุเลา ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hydroxide#Physical_properties [2018,May19]
  2. http://www.ercoworldwide.com/index.php/products/caustic/[2018,May19]
  3. https://www.foodsweeteners.com/applications-and-uses-of-sodium-hydroxide/#InPharmaceutical [2018,May19]
  4. http://mub.org/sites/default/files/CausticSoda.pdf [2018,May19]