โคลิสติน (Colistin) หรือ โพลีมิกซิน อี (Polymyxin E)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาโคลิสติน (Colistin) อีกชื่อคือ โพลีมิกซิน อี (Polymyxin E) คือ ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด บาซิลไล แกรมลบ (Gram negative bacilli) เช่น Pseudomonas, Escherichia และ Klebsiella genera แต่ก็มีแบคทีเรียแกรมลบอีกหลายชนิดที่ดื้อต่อยานี้ เช่น Brucella, Gram-negative cocci, Helicobacter pylori, Neisseria gonorrheae, Neisseria meningitidis, Proteus, Providencia และ Serratia

เมื่อยาโคลิสตินเข้าสู่ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด โดยที่เด็กจะกำจัดยาออกจากร่างกายได้เร็วกว่าผู้ใหญ่

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาโคลิสตินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเป็นหมวดยาอันตราย และการจะใช้ยาโคลิสตินต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

โคลิสตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โคลิสติน

โคลิสตินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่ตอบสนองกับยาโคลิสติน

โคลิสตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลิสตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียโดยจะเข้าไปจับกับเยื่อหุ้มเซลล์(Cell membrane: เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย โดยเลือกจับกับส่วนที่เรียกว่า ‘ฟอสโฟลิพิด (Phospholipids)’ และจะเกิดการก่อกวนสมดุลของเกลือที่มีประจุบวกในตัวแบคทีเรีย จนทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียแตกออกและส่งผลให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด

โคลิสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลิสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 1 ล้านยูนิต/ผงยา 1 กรัม
  • ยาฉีด ขนาด 150 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีด ขนาด 1 และ 2 ล้านยูนิต/ขวด
  • ยาฉีด ขนาด 5 แสนยูนิต/ขวด

โคลิสตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคลิสตินแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีได้ 2 แบบ คือ

  • โคลิสติน ซัลเฟต (Colistin sulfate) จะใช้เป็นยาสำหรับรับประทาน และ
  • โคลิสไตมีเทต โซเดียม (Colistimethate sodium) จะใช้เป็นยาฉีด ซึ่งยาโคลิสตินชนิดฉีดจะใช้เฉพาะในสถานพยาบาลจึงไม่กล่าวถึงในที่นี้

ส่วนขนาดยารับประทานที่ใช้สำหรับ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่ตอบสนองกับโคลิสติน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.5 - 3 ล้านยูนิตวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลางวัน - เย็น
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง 15 - 30 กิโลกรัม: รับประทาน 0.75 - 1.5 ล้านยูนิตวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลางวัน - เย็น
  • เด็กที่น้ำหนักต่ำกว่า 15 กิโลกรัม: รับประทาน 0.25 - 0.5 ล้านยูนิตวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลาง วัน - เย็น
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและ/หรือระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลิสติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลิสตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคลิสติน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไปให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า

โคลิสตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลิสตินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น

  • เป็นพิษกับไต
  • ทำลายเส้นประสาท

อนึ่ง ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นมักเกิดจากการได้รับยาในปริมาณมากและเกินจากที่แพทย์กำหนด

นอกจากนี้ยังอาจพบผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น

  • ตาพร่า
  • หายใจขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • วิงเวียน
  • รู้สึกสับสน
  • รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • มีการติดเชื้อโรคอื่นเพิ่มขึ้นได้

มีข้อควรระวังการใช้โคลิสตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลิสติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรตรวจสอบระบบและหน้าที่การทำงานของไตว่ายังปกติดีหรือไม่ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลิสตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โคลิสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลิสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยา Chloramphenicol และ Trimethoprim สามารถเสริมฤทธิ์ในการต่อต้านแบคทีเรีย แต่ขณะเดียวกันควรต้องระวังผลข้างเคียงของยาโคลิสตินที่อาจมีตามมามากยิ่งขึ้น การจะใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยา Amikacin, Kanamycin, Streptomycin สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาโคลิสตินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Tenofovir อาจทำให้ไตเกิดปัญหาหรือมีความเสีย หายเกิดขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของยา Ethinyl estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดด้อยลงไป อาจส่งผลให้มีภาวะตั้งครรภ์ติดตามมา ระหว่างการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันควรป้องกันหรือคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นด้วยเช่น การใช้ถุงยาอนามัยชาย

ควรเก็บรักษาโคลิสตินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโคลิสติน: เช่น

  • เก็บยาฉีดภายใต้อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาชนิดรับประทานที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส
  • อนึ่ง: ยาทั้ง 2 รูปแบบ
    • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • ไม่เก็บในห้องน้ำ
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โคลิสตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลิสติน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alfacolin (อัลฟาโคลิน) Catalysis
Alficetin (อัลฟิซีทิน) Nova Argentia
ColiFin (โคลิฟิน) Pari Pharma
Colimicina (โคลิมิซินา) Quimifar
Colimycine (โคลิมายซีน) Sanofi Aventis
Coliracin (โคลิราซิน) Rafa
Colistate (โคลิสเตท) Atlantic Lab
Colistimethate (โคลิสติเมเตท) SteriMax
Colomycin (โคโลมายซิน) Forest
Coly-Mycin (โคลี-มายซิน) King Pharmaceuticals
Colistin Kenyaku (โคลิสติน เคนยาคู) Kenyaku

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Colistin [2021,Aug7]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=colistin [2021,Aug7]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Colistin%20Kenyaku/?type=brief [2021,Aug7]
  4. https://www.medscape.com/viewarticle/772588_6 [2021,Aug7]
  5. https://www.drugs.com/mtm/colistimethate.html [2021,Aug7]
  6. https://www.mims.com/philippines/drug/info/colistin?mtype=generic [2021,Aug7]
  7. https://www.mims.com/thailand/drug/info/colistin-150 [2021,Aug7]