แอ็บซิกซิแมบ (Abciximab)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- แอ็บซิกซิแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แอ็บซิกซิแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอ็บซิกซิแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอ็บซิกซิแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- แอ็บซิกซิแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอ็บซิกซิแมบอย่างไร?
- แอ็บซิกซิแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอ็บซิกซิแมบอย่างไร?
- แอ็บซิกซิแมบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด (Fibrinolytic drugs or Thrombolytic drugs)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
บทนำ
ยาแอ็บซิกซิแมบ(Abciximab) ชื่อเดิมคือ c7E3 Fab เป็นยาต้านเกล็ดเลือดประเภท Glycoprotein IIb/IIIa receptor inhibitors ผลิตโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(Mammalian cell culture) วัตถุประสงค์ของยานี้ในช่วงเริ่มต้น ได้ถูกนำมาใช้ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด/การเกิดลิ่มเลือด(Blood clot) ภายในหลอดเลือดแดงขณะทำการขยายหลอดเลือดแดงด้วยบอลลูน (Angioplasty) ยาแอ็บซิกซิแมบมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด หลังจากได้รับยานี้เข้าทางหลอดเลือดดำตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 10 นาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์ทำได้ยาวนานประมาณ 72 ชั่วโมง แต่จะใช้เวลาเพียงประมาณ 30 นาทีเพื่อให้ร่างกายกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด
สำหรับผลข้างเคียงที่โดดเด่นของยาแอ็บซิกซิแมบ คือ ก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย ยาแอ็บซิกซิแมบจัดเป็นยาที่มีอันตรายสูง จึงมีข้อจำกัดการใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่มดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะตกเลือดภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือที่สมอง
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดในสมองแตกภายใน 2 ปีที่ผ่านมา
- ห้ามใช้กับผู้ที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดแบบรับประทานภายใน 7 วันที่ผ่านมา
- ก่อนได้รับยาแอ็บซิกซิแมบ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจปริมาณเกล็ดเลือดจากแพทย์เสียก่อน กรณีที่มีระดับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์/ไมโครลิตร ถือเป็นข้อห้ามใช้ยาแอ็บซิกซิแมบ
- ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดใหญ่ภายใน 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในบริเวณบาดแผลผ่าตัด และจัดเป็นกลุ่มที่ห้ามใช้ยาแอ็บซิกซิแมบ
- ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยง ที่ห้ามใช้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยมารองรับความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์
- ห้ามใช้ยาแอ็บซิกซิแมบกับสตรีในช่วงให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถถูกส่งผ่านทางน้ำนมมารดา และเข้าสู่ทารก จนเป็นเหตุให้มีภาวะเลือดออกง่ายกับทารก
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อาจได้รับผลข้างเคียงจากยาแอ็บซิกซิแมบได้อย่างมาก
- หลังการได้รับยานี้ แล้วมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ดังต่อไปนี้ อาทิ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง วิงเวียนอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ รู้สึกเหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย กรณีเหล่านี้ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
ปัจจุบัน เราอาจไม่พบเห็นการใช้ยาตัวนี้ในประเทศไทย แต่ก็ยังมียากลุ่ม Glycoprotein IIb/IIIa inhibitor ตัวอื่นที่นำมาใช้ในสถานพยาบาลของบ้านเรา เช่น Eptifibatide และ Tirofiban
แอ็บซิกซิแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแอ็บซิกซิแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- สำหรับป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดจนเป็นลิ่มเลือดขณะขยายหลอดเลือด/ หลอดเลือดแดง ด้วยบอลลูนหรือ ขณะผ่าตัดเพื่อเปิดหลอดเลือดให้กว้างขึ้น
- บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดหัวใจตีบ(Unstable angina)
แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “โรคหัวใจ: การซ่อมรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ”
แอ็บซิกซิแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอ็บซิกซิแมบ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่บริเวณพื้นผิวของเกล็ดเลือดที่มีชื่อว่า Glycoprotein IIb receptor หรือ Glycoprotein IIIa receptor ทำให้เกล็ดเลือดหมดความสามารถที่จะรวมตัวกับสารหรือโปรตีนบางอย่างที่จะทำให้เกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นสาร Fibrinogen และ von willebrand factor กลไกยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดดังกล่าว ก่อให้เกิดฤทธิ์ของยาชนิดนี้ตามสรรพคุณ
แอ็บซิกซิแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอ็บซิกซิแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วย Abciximab 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร (2,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
แอ็บซิกซิแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแอ็บซิกซิแมบ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดขณะทำการเปิดหลอดเลือด/การทำบอลลูน:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยา 0.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาเดินยาฉีดนาน 1 นาทีขึ้นไป ควรให้ยาก่อนเข้ารับการเปิดหลอดเลือด หรือทำบอลลูนประมาณ 10–60 นาที จากนั้นให้หยดยาแอ็บซิกซิแมบเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.125 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ขนาดการหยดยาเข้าหลอดฯเลือดสูงสุดไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม/นาที
ข. สำหรับบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยหลอดเลือดหัวใจตีบ:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยา 0.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดฯจากนั้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดฯ 10 ไมโครกรัม/นาที เป็นเวลา 18 – 24 ชั่วโมง
อนึ่ง:
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่นอน ถึงความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
- แพทย์อาจใช้ยาแอ็บซิกซิแมบร่วมกับยา Heparin และ Aspirin
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอ็บซิกซิแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอ็บซิกซิแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แอ็บซิกซิแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอ็บซิกซิแมบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด/ ปัสสาวะไม่ออก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น มีภาวะหย่อน(ลดน้อยลง)การรับรู้ร้อนเย็น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีแผลตามผิวหนัง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดปกติ มือและเท้าเย็น อาจพบเห็นภาวะมีลิ่มเลือดอุดตามหลอดเลือด
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีน้ำตาลในเลือดสูง ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีเลือดออกในปอด หลอดลมอักเสบ หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้แอ็บซิกซิแมบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอ็บซิกซิแมบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงกิจกรรม กีฬา ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ บาดแผลตามร่างกายเพราะ จะเป็นเหตุให้เลือดออกได้มาก/ได้ง่าย
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาโรงพยาบาลเพื่อรับการให้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแอ็บซิกซิแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอ็บซิกซิแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอ็บซิกซิแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแอ็บซิกซิแมบร่วมกับ ยาต้านเกล็ดเลือด ชนิดอื่นๆ แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอ็บซิกซิแมบร่วมกับ ยาNaproxen ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่าย อาเจียน มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- การใช้ยาแอ็บซิกซิแมบร่วมกับ ยา Urokinase จะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาแอ็บซิกซิแมบอย่างไร?
ควรเก็บยาแอ็บซิกซิแมบ ภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แอ็บซิกซิแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอ็บซิกซิแมบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Reopro (รีโอโปร) | Janssen Biologics BV |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Abciximab [2017,Nov18]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/abciximab/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/cdi/abciximab.html [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/dosage/reopro.html [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/sfx/reopro-side-effects.html [2017,Nov18]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/abciximab-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov18]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/1997/abcicen110597-lab.pdf [2017,Nov18]