แอสไพรินกินทุกวัน ลดอุดตันหลอดเลือดดำ (ตอนที่ 1)

ผลการวิจัยใหม่ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Society of Hematology) พบว่า แอสไพริน (Aspirin) อาจมีผลระยะยาวต่อการลดความเสี่ยงจากหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับหลอดเลือดดำที่ขา เรียกว่า “ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด” (Venous thromboembolism : VTE) แล้วเคลื่อนย้ายขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดถึงปอด (Pulmonary embolism : PE) ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่หลอดเลือดดำอุดตันโดยไม่ทราบปัจจัยเสี่ยง (อาทิหลังการผ่าตัด) จะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดดำอุดตันซ้ำ (Repeat) ภายใน 1 ถึง 2 ปี หลังจากหยุดกินยาต้านการจับเป็นลิ่ม (Anticoagulation) เพื่ดลดความเสี่ยงจากเลือดไหลไม่หยุด อาทิ บริเวณสมอง (Intracranial bleeding) หรืออื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามถึงชีวิต

หลอดเลือดอุดตัน (Blood clot หรือThrombus) คือผลลัพธ์ของขั้นตอนการจับเป็นลิ่ม (Coagulation) ในกระบวนการห้ามเลือด (Hemostasis) เกิดจากการรวมตัวของเกล็ดเลือด (Platelet) กับการกระตุ้นหรือออกฤทธิ์ (Activation) ของระบบการจับเป็นลิ่มของสารน้ำ (Humoral) กล่าวคือเป็นปัจจัยของการอุดตัน

การกระตุ้นของเกล็ดเลือด อาจเกิดขึ้นผ่านกลไกต่างๆ อาทิ ผนังหลอดเลือดแตก หรือปัจจัยเนื้อเยื่อเป็นโพรง ซึ่งเป็นสาเหตุที่กระทบต่อๆกันเป็นทอดๆ (Cascade) ของการจับเป็นลิ่ม และอุดตันในที่สุด หลอดเลือดอุดตันในกรณีการบาดเจ็บเป็นแผล (Trauma) ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ แต่ในกรณีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis) ถือว่า เป็นเรื่องของพยาธิสภาพ (Pathologic)

กรณีที่เพิ่มความเสี่ยงของวิวัฒนาการหลอดเลือดดำอุดตัน ได้แก่ หัวใจเต้นแผ่วระรัว (Atrial fibrillation) การผ่าตัดลิ้นหัวใจ (Heart valve replacement) กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) ช่วงเวลายาวนานที่ปราศจากกิจกรรม (Inactivity) และความบกพร่อง (Deficiency) ของการรวมตัวเป็นลิ่มเลือด อันสืบเนื่องจากพันธุกรรมหรือโรค

การวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า สารเคมีที่พบในอาหาร อาทิ หัวหอม แอปเปิล และส้ม อาจช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า สาร รูติน (Rutin) ในชาดำและชาเขียว อาจมีผลในการป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด จึงสามารถช่วยการรักษาในอนาคต เพื่อรับมือกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และภาวะหัวใจล้ม (Heart attack)

พยาธิแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ Rudolf Virchow ตีพิมพ์สิ่งที่เขาอ้างถึง ว่าเป็นสาเหตุ 3 ข้อ (Virchow's triad) ของภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Thrombosis) และเป็นกรอบการทำงานของเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Vernous thrombosis: VT) ที่ใช้อธิบายมาจนถึงปัจจุบัน

สาเหตุหลัก 3 ประการดังกล่าวคือ

  1. การอักเสบของผนังหลอดเลือด (Endothelial damage and activation) อาทิ การบาดเจ็บเป็นแผล (Trauma)
  2. อัตราการไหลเวียนโลหิตดำต่ำลงหรือไม่ไหลเวียน (Venous stasis) อาทิ หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm)
  3. การเพิ่มความเสี่ยงการอุดตันของหลอดเลือด [เลือดจะเป็นลิ่มได้ง่ายกว่าปรกติ] (Hypercoagulability) อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)

แหล่งข้อมูล:

  1. Aspirin May Reduce Risk of Repeat Blood Clots. http://www.webmd.com/news/20120523/aspirin-may-reduce-risk-of-repeat-blood-clots [2012, May 26].
  2. Thrombus. http://en.wikipedia.org/wiki/Thrombus [2012, May 26].