แลโลกยามค่ำคืน (ตอนที่ 1)

แลโลกยามค่ำคืน

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงอาการตาบอดกลางคืน ว่า เนื่องจากจอประสาทตาของคนเราจะมีเซลล์อยู่สองชนิดคือ Rod cells รับแสงในเวลากลางคืน และ Cone cells รับแสงในเวลากลางวัน ซึ่งหาก Rod cells เสียหายก็จะมีอาการตาบอดกลางคืนได้

ปกติคนเราจะมองเห็นไม่ได้ดีนักในเวลากลางคืนอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการมองเห็นภาพในเวลากลางคืนได้แย่กว่าคนปกติทั่วไป ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ คือ ถูกกำหนดมาตั้งแต่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยจะมีการมองเห็นในเวลากลางคืนที่แย่ลงเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่อายุ 20-40 ปี ทั้งนี้ การมองเห็นระดับต่ำสุดของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บอกไม่ได้ว่าแต่ละคนจะถึงจุดไหน

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า การขาดวิตามินเอก็มีส่วนทำให้มีอาการตาบอดกลางคืนได้ เพราะวิตามินเอมีส่วนสำคัญในการทำงานของ Rod cells แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยพบการขาดวิตามินเอ อาการนี้จึงมักจะเกิดจากกรรมพันธุ์เท่านั้น

ซึ่งอาการตาบอดกลางคืนยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลเป็นที่ยอมรับ การทานวิตามินเออาจช่วยชะลอได้บ้าง แต่อาจเกิดผลเสียกรณีทานมากเกินไป ผู้ป่วยอาจใส่แว่นกันแดดป้องกันแสง หรือใช้อุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยสายตาเลือนลางช่วยในกรณีที่การมองเห็นแย่ลงมาก

นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีการวิจัยใช้เซลล์บำบัดในการรักษา แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันถึงผลการวิจัย

ตาสามารถมองเห็นด้วยจอประสาทตา (Retina) โดยจอประสาทตาเป็นที่รวมของเซลล์ประสาทที่อยู่หลังตาแต่ละข้าง ทำให้มองเห็นได้ จอประสาทตามีเซลล์อยู่ 2 ประเภท ได้แก่

1. Cones – อยู่บริเวณกลางจอประสาทตา ทำหน้าที่ในการเห็นสีและทำงานได้ดีในที่มีแสง

2. Rods – อยู่บริเวณขอบจอประสาทตา ทำหน้าที่ในการเห็นในที่มีแสงน้อยแต่ไม่สามารถเห็นสีได้

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงมองเห็นสีได้น้อยในตอนกลางคืน อย่างไรก็ดี หากเราอยู่ในที่ที่มืดจริงๆ เซลล์ทั้ง 2 ประเภท ก็ไม่สามารถทำงานได้เช่นกัน นั่นคือ เราจะไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลย

อาการตาบอดกลางคืน (Night blindness / nyctalopia) เป็นอาการมองเห็นภาพในเวลากลางคืนไม่ดี มีตั้งแต่ระดับอ่อนๆ จนถึงขั้นรุนแรง มักเกิดจากการทำหน้าที่ผิดปกติของเซลล์ Rods ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะปรับแสงและเห็นได้

อาการตาบอดกลางคืนมักทำให้เกิดอุบัติเหตุมากมายที่เกิดตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกดินและตอนกลางคืน ทำให้เดินในที่มืดลำบาก เช่น ในโรงหนัง

แหล่งข้อมูล

1. “ตาบอดกลางคืน” โรคกรรมพันธุ์-ขาดวิตามินเอ. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000048025&Keyword=%e2%c3%a4 2016, June 4].

2. Vision - night blindnesshttps://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003039.htm [2016, June 4].

3. Night Blindness http://www.ourmed.org/wiki/Night_Blindness [2016, June 4].