แมงมุมกัด (Spider bite)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัญหาแมงมุมกัด (Spider bite) เป็นปัญหาที่พบไม่บ่อยนักในบ้านเรา ส่วนหนึ่งเนื่องจากธรรมชาติของแมงมุมส่วนมากเป็นสัตว์รักสันโดษไม่เข้าทำร้ายคนก่อน ยกเว้นเมื่อจวนตัว เช่น คนไปนั่งทับหรือเข้าใกล้

แต่เดิมนั้นประเทศไทยไม่มีแมงมุมพิษอาศัยอยู่ ต่อมามีการนำแมงมุมเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยง จึงพบมีแมงมุมพิษในประเทศ ข้อมูลเกี่ยวกับแมงมุมพิษในบ้านเราจึงมีไม่มากนัก ข้อมูลต่อไปที่จะกล่าวถึงเกี่ยวกับแมงมุมกัด จึงเป็นข้อมูลที่อ้างอิงมาจากข้อมูลในสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดกว้างใหญ่และมีความหลากหลายทางธรรมชาติ และสัตว์ รวมถึงแมลงและแมงต่างๆ เช่น แมงมุม ในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) มีรายการการถูกแมงมุมกัดในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 15,000 ราย โดยมีการเสียชีวิตเพียง 1 ราย แมงมุมพิษที่พบในสหรัฐอเมริกา มีพิษที่เกิดขึ้น ความรุนแรงตั้งแต่ปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอักเสบที่ผิวหนังตรงที่ถูกกัด ไม่มาก จนถึงพิษรุนแรงที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต (ตาย) ได้ ซึ่งรายที่พบว่าเกิดอันตรายรุนแรงนั้นมักเป็นรายที่แมงมุมพิษกัดเด็กหรือกัดผู้สูงอายุ

แมงมุมกัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

แมงมุมกัด

แมงมุม มักทำรังอยู่อาศัยในบริเวณที่ไม่มีผู้รบกวนมากนัก เป็นที่อับแสง แห้ง ไม่มีลม เช่น ห้องเก็บของ กองไม้ โรงรถ มุมขอบประตูหน้าต่าง ห้องน้ำสาธารณะ ธรรมชาติของแมงมุมโดยทั่ว ไปจะไม่เข้าทำร้ายมนุษย์ ยกเว้นเมื่อแมงมุมรู้สึกถึงอันตรายจากเรา ซึ่งมักเป็นการไปสัมผัสถูกแมงมุมโดยบังเอิญ เช่น เราบังเอิญนั่งทับแมงมุมหรือไปชนกับรังใยแมงมุมเข้า ดังนั้น การป้องกันตัวจากแมงมุมที่ดีวิธีหนึ่งคือ การรู้จักสังเกตุโดยเฉพาะบริเวณที่รกร้าง ซึ่งมีโอกาสที่แมงมุมจะทำรังอาศัยอยู่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแมงมุมกัด

แมงมุมกัดมีอาการอย่างไร?

อาการจากแมงมุมกัดขึ้นกับชนิดของแมงมุม ซึ่งชนิดของแมงมุมพิษในสหรัฐอเมริกา สามารถแบ่ง เป็นกลุ่มใหญ่ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1. แมงมุมแม่ม่ายดำและแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล (Latrodectus mactans): พบในทวีปอเมริกาใต้และออสเตรเลีย ขนาดตัวประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร ตัวเมียจะมีลักษณะพิเศษคือ มีรูป นาฬิกาทรายสีแดงที่ท้อง ทั้งนี้ ทันที่ที่ถูกกัดจะยังไม่มีอาการ จากนั้นประมาณครึ่งชั่วโมงจะเริ่มมีปฏิกิริยาอักเสบที่ผิวหนัง อาการพิษจากแมงมุมกัดมีตั้งแต่อาการไม่มากเพียงแต่มีอาการปวดแดงที่บริเวณที่ถูกกัด จนถึงอาการรุนแรงจากพิษของแมงมุมที่มีผลต่อระบบประสาท ทำให้มีกล้ามเนื้อเกร็งจนอ่อนแรง และพิษอาจรุนแรงจนก่อภาวะไตวายได้ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ รอให้ร่างกาย ค่อยๆกำจัดพิษของแมงมุมออกไปเอง เช่น การทำแผล การให้ยาแก้ปวด และอาจจำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ กรณีแผลถูกกัดติดเชื้อ และควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

2. แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (Loxosceles reclusa): พบในทวีปอเมริกาเหนือ ขนาดเล็กประ มาณ 10 - 20 มิลลิเมตร สีน้ำตาล ลักษณะพิเศษคือมีลายคล้ายรูปไวโอลินที่บริเวณส่วนหัวและท้อง พิษของแมงมุมจะเป็นพิษที่ทำให้เกิดเนื้อตายและมีพิษต่อเม็ดเลือดแดง อาการจากพิษมีได้ตั้งแต่เป็นไม่มาก เช่น มีอาการแดง แสบ คัน ตุ่มน้ำบริเวณแผลที่ถูกกัด จนถึงอาจเสียชีวิต (ตาย) จากภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกจากพิษแมงมุม บริเวณที่ถูกแมงมุมกัดเริ่มแรก จะไม่มีอาการใด เมื่อผ่านไปประมาณ 2 - 8 ชั่วโมง จะเริ่มมีตุ่มน้ำ พอง และอาการปวด ต่อมาอาจกลาย เป็นแผลเนื้อตาย ผู้ที่ถูกแมงมุมชนิดนี้กัด จึงต้องมาติดตามการรักษากับแพทย์อย่างน้อย 4 - 5 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอาการเนื้อตายจากพิษแมงมุมเกิดขึ้น การดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงมุมชนิดนี้กัด คือ การประคบเย็น และพยายามยกบริเวณถูกกัดให้สูงกว่าหัวใจ ห้ามถูนวดหรือบีบรัดบริเวณที่ถูกกัด เนื่องจากจะทำให้พิษกระจายมากขึ้น การรักษาจะเป็น การรักษาตามอาการ, การดูแลแผลเนื้อตายที่เกิดขึ้น, การให้ยาแก้ปวด, ทำแผล, และฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

3. แมงมุม Tegenaria: พบในอเมริกาเหนือและยุโรป เป็นแมงมุมขายาวสีน้ำตาลลำตัวตรง ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามบ้าน พิษทำให้เกิดเนื้อตาย การรักษาคือ การรักษาตามอาการ การทำแผล ให้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะป้องกันแผลติดเชื้อ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะ ยัก

นอกจากนี้ยังมีแมงมุมอีกชนิดที่บางคนนิยมเลี้ยง เนื่องจากความแปลกและความสวยงาม คือ แมงมุมยักษ์ Tarantula พิษของแมงมุมนี้เป็นพิษที่มาจากขน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ถ้าเข้าตาทำให้เป็นอันตรายเกิดกระจกตาอักเสบได้ หากพิษเข้าตา ให้รีบพบจักษุแพทย์ ส่วนอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง บรรเทาโดยการใช้ยาทาสเตียรอยด์

อนึ่ง ยังไม่เคยมีรายงานว่า แมงมุมไทยชนิดใดมีพิษมากถึงกัดคนทำให้เจ็บปวดหรือตายได้ และจากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา มีแมงมุมมากมายกว่า 2,000 ชนิด พบว่ามีเพียงประมาณ 50 ชนิดเท่านั้นที่สามารถกัดหรือเขี้ยวแทงทะลุเข้าผิวหนังคนให้เกิดพิษได้ และโดยพฤติกรรมปกติ ของแมงมุมที่เป็นสัตว์รักสันโดษ จึงมักหนีมากกว่าต่อสู้เมื่อเผชิญหน้ากับมนุษย์ จึงแทบไม่มีโอกาสที่เราจะถูกแมงมุมบ้านพื้นถิ่นของไทยกัดทะลุผิวหนังทำให้เกิดอันตรายได้

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าแมงมุมกัด?

แพทย์วินิจฉัยว่าถูกแมงมุมกัดจาก

  • ประวัติการถูกแมงมุมกัด
  • การตรวจร่างกาย ร่วมกับ การตรวจรอยแผลถูกกัด

โดยทั่วไป อาการจากการถูกแมงมุมกัด มักไม่เกิดทันที อาจเกิดตามหลังการโดนกัดอย่างน้อยประมาณครึ่งชั่วโมง และเมื่อมาพบแพทย์ อาจพบเพียงรอยแดงที่ผิวจากปฏิกิริยาอักเสบ โดยไม่พบรอยกัดของแมงมุม แพทย์จึงต้องสอบถามประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมและสถานที่ที่อาจสัมพันธ์และเกี่ยวข้องก่อนเกิดอาการ เช่น ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการปวดท้องคล้ายไส้ติ่งอักเสบ (เนื่องจากพิษของแมงมุมทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้) แต่มีประวัติว่า เลี้ยงแมงมุมแม่ม่ายดำและถูกกัดมา โดยอาจมีอาการบวมที่รอยถูกกัด แพทย์จึงต้องวินิจฉัยแยกโรค ว่า อาการอาจเกิดจากแมงมุมกัดหรือจากไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากถูกแมงมุมหรือแมงกัด และสงสัยว่าเป็นแมงมุมพิษหรือแมงมีพิษ (เช่น จากลักษณะตัวแมงมุม/ตัวแมง หรือจากแผลที่บวมขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหลังถูกกัด) สามารถพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้ทันทีเพื่อการวินิจฉัยและตรวจเช็คอาการ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงแมงมุมพิษ ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีหลังถูกแมงมุมพิษกัด (ถ้านำแมงมุม/แมงมาให้แพทย์ดูได้ ก็จะช่วยการวินิจฉัยชนิดแมงมุม/แมงได้ถูกต้อง)

อนึ่ง จากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา การวินิจฉัยแมงมุมกัดมักเป็นการวินิจฉัยได้หลังจาก เมื่อเกิดอาการและผลข้างเคียงอื่นๆแล้ว เช่น มีแผลเนื้อตาย มีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง เนื่องจากแมงมุมพิษ 3 กลุ่มที่ได้กล่าวถึงนั้น มีขนาดตัวเล็กไม่เกิน 1 ถึง 2 เซนติเมตร รอยกัดของแมงมุมจึงมักสังเกต ไม่เห็นในระยะแรก รวมถึงการจับตัวแมงมุมก็เป็นไปได้ยาก เพราะแรกถูกกัดมักไม่มีอาการปวด มักเริ่มมีอาการประมาณ 1 ชั่วโมงให้หลังแล้ว จึงเป็นไปได้ยากที่จะจับได้ทั้งตัวแมงมุมและพบรอยกัด

แพทย์รักษาแมงมุมกัดอย่างไร?

แนวทางการรักษาแมงมุมกัด ได้แก่

ก. กรณีแมงมุมทั่วไปที่ไม่มีพิษกัด: ไม่ต้องมีการรักษา เพียงแต่ล้างรอยกัดให้สะอาด อาการต่างๆที่ ผิวหนังมักหายได้เองภายใน 1 วัน

ข. กรณีแมงมุมมีพิษกัด: ปัจจุบันยังไม่มียาหรือเซรุ่มที่แก้พิษแมงมุม การรักษาเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การให้ยาแก้ปวด และ
  • การดูแลรักษาเพื่อป้องกันผลข้างเคียง เช่น
    • การทำแผลให้สะอาด
    • พิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกัน/รักษาแผลถูกกัดในเรื่องการติดเชื้อ และ
    • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก/วัคซีนบาดทะยัก

ดูแลแผลแมงมุมกัดอย่างไร?

การดูแลแผลเมื่อถูกหรือสงสัยถูกแมงมุมมีพิษกัด คือ

  • ล้างแผลถูกกัดด้วยน้ำเปล่า สะอาด และ สบู่
  • ไม่ควร บีบ คั้น เค้น แผล เพราะจะทำให้พิษกระจายมากขึ้น
  • ประคบเย็นบริเวณถูกกัดด้วยน้ำแข็ง หรือผ้าชุบน้ำเย็นบิดให้แห้ง เพื่อลดการกระจายพิษ ลดปวด ลดบวม
  • หลังจากนั้นรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ควรจดจำลักษณะแมงมุมให้ได้ หรือนำซากแมง มุมมาด้วย (ถ้าสามารถทำได้)
  • เมื่อเกิดแผลเนื้อตายที่เกิดจากแมงมุมกัด แนะนำให้มาทำแผลที่โรงพยาบาลจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้ทำแผลได้เองที่บ้าน ทั้งนี้เพื่อแพทย์ พยาบาลสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของแผล โดยการทำแผลจะเป็นการล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ ใส่ยาเบตาดีน (Betadine) และการผ่า ตัดเนื้อตายออก

อนึ่ง การดูแลแผลแมงมุมกัดในเบื้องต้น เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ว่าเป็นแผลจากแมงมุมชนิดไหน มีพิษหรือไม่มีพิษ

แมงมุมกัดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

พิษจากแมงมุมพิษกัด อาจมีเพียงปฏิกิริยาเฉพาะที่ที่ผิวหนังไม่มาก (เช่น อาการ เจ็บ คัน บวม) ไปจนถึงอาการอันตรายถึงชีวิต เช่น มีเม็ดเลือดแดงแตกจนทำให้เกิดภาวะซีดรุนแรง ไตวาย หรือมีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (ทำให้เลือดออกจากแผลและอวัยวะต่างๆไม่หยุด) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก ที่พบมักเกิดในผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ดังนั้นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาจต้องเข้ารับการสังเกตอาการในโรง พยาบาล

แมงมุมในกลุ่มที่มีพิษที่ทำให้เกิดเนื่อตาย เช่น แมงมุม Tegenaria และแมงมุมสันโดษสีน้ำ ตาล ซึ่งแนวทางการรักษาแผลเนื้อตาย คือ การผ่าตัดเนื้อตายออก ร่วมกับการรับประทานหรือฉีดยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกัน/รักษาภาวะแผลติดเชื้อ ซึ่งเมื่อรักษาแผลหายแล้ว อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้

แมงมุมกัดมีพยากรณ์โรคอย่างไร?

การถูกแมงมุมกัดมักมีการพยากรณ์โรคที่ดี ทั้งนี้ถ้าเป็นชนิดไม่มีพิษกัด อาการเจ็บบวมที่รอยกัด มักหายได้เองใน 1 วัน และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย

แต่ถ้าเป็นชนิดมีพิษกัด อาการพิษจากแมงมุมกัด มักหายไปได้เองในกรณีที่เป็นพิษไม่รุนแรง โดยอาการจะเริ่มบรรเทาลงภายใน 1 วัน และมักหายได้ภายใน 2 ถึง 3 วัน เช่น จากแมงมุมแม่ม่ายดำ ส่วนแมงมุมที่ทำให้เกิดแผลเนื้อตาย เช่น แมงมุมสันโดษสีน้ำตาล หรือแมงมุม Tegenaria ผู้ ป่วยต้องมาติดตามดูแลแผลตามแพทย์นัด เพื่อดูว่าเกิดเนื้อตายขึ้นหรือไม่ เพื่อได้รับการรักษาแผลเนื้อตายที่รวดเร็วและอย่างเหมาะสม

อนึ่ง ผู้ป่วยที่มีอันตรายถึงชีวิตมีไม่มากนัก โดยสาเหตุการเสียชีวิตคือ แผลติดเชื้อรุนแรง หรือ ได้รับพิษชนิดรุนแรงจนเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกที่ก่อภาวะซีดรุนแรง หรือภาวะไตวาย ทั้งนี้ราย งานจากสหรัฐอเมริกาดังกล่าวแล้วในบทนำ ใน 1 ปีมีผู้ป่วยถูกแมงมุมกัดประมาณ 15,000 คน จะมีเพียง 1 คนเท่านั้น ที่เสียชีวิต

ดูแลรักษาตนเองอย่างไรเมื่อถูกแมงมุมมีพิษกัด?

หากสงสัยว่าถูกแมงมุมพิษกัด แนะนำให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หลังจากการปฐมพยาบาลแผลถูกกัด ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเองเมื่อถูกแมงมุมกัด ที่สำคัญ คือ การล้างแผลและประคบเย็น ห้าม เค้น รีด บีบ บริเวณแผล

แต่ถ้าเป็นแมงมุมไม่มีพิษกัด เพียงดูแลรอยแผลที่ถูกกัดให้สะอาด แต่ถ้าแผลบวม แดง เจ็บมากขึ้น แสดงว่าแผลติดเชื้อ หรือเป็นแผลจากแมงมุมมีพิษกัด ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

หากแผลแมงมุมกัดมีการเปลี่ยนแปลง แผลเลวลง เช่น อาการแดง บวม อักเสบกระจายกว้าง ขึ้น ผิวเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำ ปวดมากขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

ป้องกันแมงมุมกัดได้อย่างไร?

การป้องกันแมงมุมกัดคือ ระวังสังเกตบริเวณที่น่าจะมีแมงมุมทำรังอยู่ ซึ่งมักเป็นบริเวณที่แห้ง ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีลมแรง เช่น ห้องเก็บของ กองไม้ โรงรถ มุมขอบประตูหน้าต่าง ห้องน้ำสาธารณะ แล้วหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปสัมผัสแมงมุมโดยอุบัติเหตุ

บรรณานุกรม

1. ดร. นพ. เวสารัช เวสสโกวิท .พญ. เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก.สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย.แมงมุมพิษ. http://www.dst.or.th/Publicly/Articles/1207.23.7/BPfjAKUn2j [2020,Aug8]

2. แสงโฉม ศิริพานิช .พรรณนภา เหมือนผึ้ง .สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.สถานการณ์การเจ็บป่วยจากการได้รับพิษแมงมุม พ.ศ. 2555. http://www.boe.moph.go.th/files/news/20120201_38069018.pdf [2020,Aug8]

3. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012

4. Spider bite First Aid.Mayo clinic . Spider bites: First aid

5. Causes of Necrotic Wounds other than Brown Recluse Spider Bites.University of California. https://spiders.ucr.edu/causes-necrotic-wounds-other-brs-bites [2020,Aug8]