แพ้น้ำตาลในนม (ตอนที่ 3)

แพ้น้ำตาลในนม

อาการของภาวะแพ้น้ำตาลในนมอาจรุนแรงหรืออ่อน ขึ้นกับปริมาณแลคเทสที่ร่างกายสร้างขึ้น อาการมักเกิดขึ้นหลังการกินนมหรือผลิตภัณฑ์ของนมประมาณ 30 นาที – 2 ชั่วโมง โดยอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • อาการท้องอืด (Bloating)
  • ปวดหรือเป็นตะคริวที่ช่องท้อง (Abdominal cramps)
  • มีเสียงร้องในช่องท้อง (Gurgling / rumbling sound)
  • มีแก๊สในท้อง
  • ถ่ายเหลวหรือท้องเสีย
  • คลื่นไส้อาเจียน (Throwing up)

อาการจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่กินนมหรือผลิตภัณฑ์ของนม แต่หากการกินเพียงครั้งเดียวแล้วทำให้เกิดอาการดังกล่าว อาจไม่ใช่ภาวะแพ้น้ำตาลในนมที่แท้จริง อย่างไรก็ดีบางคนอาจไม่เคยมีอาการมาก่อนแต่เพิ่งมาเป็นก็ได้ ซึ่งอาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น

ทั้งนี้ นักวิจัยได้แนะนำว่าวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีภาวะแพ้น้ำตาลในนมสามารถกินผลิตภัณฑ์นมได้วันละ 10-12 กรัม (หรือเทียบเท่ากับนม 1 แก้ว) โดยไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

สำหรับวิธีการทดสอบระดับแลคโทส อาจทำได้โดย

  • การทดสอบ Lactose tolerance test เพื่อวัดว่าร่างกายมีปฏิกริยาต่อของเหลวที่มีปริมาณแลคโทสสูงอย่างไร โดยการงดน้ำและอาหารหลังเที่ยงคืน และทำการทดสอบในวันรุ่งขึ้น โดยจะให้กินของเหลวที่มีปริมาณแลคโทสสูง หลังจากนั้นทุก 30 นาที จะทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับกลูโกสจนครบ 2 ชั่วโมง
  • ถ้าระดับกลูโกสหรือน้ำตาลในเลือด (Blood sugar) ไม่สูงขึ้น นั่นหมายความว่า ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมแลคโทสได้ อย่างไรก็ดี วิธีนี้จะไม่ใช่กับทารกหรือเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และไม่ใช่กับคนที่เป็นโรคเบาหวานด้วย
  • การทดสอบ Hydrogen breath test เป็นการตรวจระดับไฮโดรเจนในลมหายใจ โดยก่อนวันทำการทดสอบจะต้องเลี่ยงอาหารและยาบางชนิด รวมทั้งบุหรี่ด้วย และในวันที่ทำการทดสอบชนิดนี้จะต้องกินของเหลวที่มีปริมาณแลคโทสสูง แล้วจึงทำการวัดระดับไฮโดรเจนจากช่วงการหายใจปกติเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ซึ่งถ้าเป็นกรณีปกติจะวัดไฮโดรเจนได้ในระดับต่ำ แต่ถ้าร่างกายไม่ย่อยแลคโทส แลคโทสจะตกค้างอยู่ในลำไส้ ทำให้เกิดไฮโดรเจนและแก๊สอื่นๆ ซึ่งดูดซึมทางลำไส้และปล่อยออกทางลมหายใจออก ทำให้มีระดับไฮโดรเจนที่สูง เช่นเดียวกันวิธีนี้จะไม่ใช่กับทารกหรือเด็ก เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียอย่างรุนแรง
  • การทดสอบ Stool acidity test โดยตรวจความเป็นกรดของอุจจาระ ใช้สำหรับการทดสอบในเด็กที่ไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีอื่น ทั้งนี้ แลคโทสที่ไม่ได้ย่อยจะก่อให้เกิดกรดแลคติก (Lactic acid) และกรดอื่นๆ ที่สามารถตรวจพบได้จากอุจจาระ

แหล่งข้อมูล

  1. Lactose Intolerance. http://www.webmd.com/digestive-disorders/tc/lactose-intolerance-topic-overview [2015, April 19].
  2. Lactose Intolerance. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/digestive-diseases/lactose-intolerance/Pages/facts.aspx [2015, April 19].
  3. Lactose Intolerance. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lactose-intolerance/basics/definition/con-20027906 [2015, April 19].