เฮชไอวี VS เอดส์ (ตอนที่ 3)

เฮชไอวีVSเอดส์

การติดเชื้อเฮชไอวีแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เรียกว่า การติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute infection หรือ Seroconversion) มักเกิดในสัปดาห์ที่ 2-6 หลังการติดเชื้อ เป็นระยะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองเพื่อกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย อาการของการติดเชื้อเฉียบพลันจะคล้ายกับอาการป่วยด้วยเชื้อไวรัสอื่น โดยอาการจะเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เจ็บคอ
  • มีผื่นแดงแต่ไม่คัน โดยเฉพาะบริเวณลำตัว (Torso)
  • เป็นไข้

การแพร่เชื้อเฮชไอวีจะเกิดในระยะนี้มากที่สุด เพราะมีจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดที่สูงมาก และจำนวน CD4 T-cells จะตกลงอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่คนเป็นจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ จนกว่าจะเกิดอาการระยะแรกที่ร่างกายพยายามต่อสู้กับเชื้อ และมีการทดสอบหาเชื้อ (HIV Test)

CD4 T-cells คือ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เป็นตัวหลักในการกำจัดและควบคุมเชื้อโรคนานาชนิด อีกทั้งมีบทบาทในการสร้างสารภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ใช้เป็นอาวุธต่อสู่กับเชื้อโรคด้วย โดยปกติคนทั่วไปจะมีจำนวน CD4 T-cells อยู่ระหว่าง 500 - 1,600 เซลล์ต่อไมโครลิตร ซึ่งตัวเลขนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยขึ้นกับสุขภาพของคนๆ นั้น สำหรับคนที่ติดเชื้อเฮชไอวี จำนวน CD4 T-cells จะตกลงทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นและมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคเอดส์ได้ง่าย

เมื่อ CD4 T-cells ลดลงต่ำกว่า 200 จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลายชนิด (Opportunistic infections) เพราะเชื้อเหล่านั้นจะอาศัยโอกาสตอนที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอทำให้ติดเชื้ออื่นได้ง่าย ตัวอย่างเช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม (Pneumonia) หรือ วัณโรค (Tuberculosis = TB)
  • การติดเชื้อรา เช่น เชื้อราในปาก (Oral thrush) และ ปอดอักเสบ (Pneumocystis pneumonia = PCP)
  • การติดเชื้อโปรโตซัว เช่น โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคงูสวัด (Shingles / herpes zoster)

[โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เริ่มต้นจากการมีอาการไม่รุนแรงคล้ายเป็นไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวด ศีรษะ เจ็บคอ และอาจแสดงอาการรุนแรงได้ ถ้าโปรโตซัวทําลายกล้ามเนื้อระบบประสาท หัวใจ ปอด หรือตา ทั้งนี้ เชื้ออาจทําให้หญิงมีครรภ์แท้ง และทําให้เด็กในครรภ์มีความผิดปกติแต่กําเนิด ในผู้ป่วยโรคเอดส์อาจเกิดการติดเชื้อที่สมองและทําให้เสียชีวิตได้]

แหล่งข้อมูล

1. HIV and AIDS. http://www.nhs.uk/conditions/HIV/Pages/Introduction.aspx [2015, December 19].

2. About HIV/AIDS. http://www.cdc.gov/hiv/basics/whatishiv.html[2015, December 19].

3. HIV & AIDS Overview. http://www.webmd.com/hiv-aids/ [2015, December 19].