เอ๊ะเกี่ยวกันได้ไง ! แป้งฝุ่นกับมะเร็งรังไข่ (ตอนที่ 2)

เอ๊ะเกี่ยวกันได้ไงแป้งฝุ่นกับมะเร็งรังไข่

ปกติผู้หญิงจะมีรังไข่ 2 ข้าง แต่ละข้างมีขนาดเท่ากับเม็ดอัลมอนด์ มีหน้าที่ผลิตไข่และฮอร์โมนผู้หญิงอย่าง เอสโตรเจน (Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone)

มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดในรังไข่ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเป็น ก็มักจะลามไปที่เชิงกราน (Pelvis) และช่องท้อง (Abdomen) มะเร็งรังไข่ระยะแรกที่ยังจำกัดอยู่ในบริเวณรังไข่สามารถรักษาให้หายได้ แต่มะเร็งรังไข่ระยะท้ายๆ จะรักษายากและมักจะทำให้เสียชีวิต

อาการของมะเร็งรังไข่ระยะแรกๆ มักไม่ปรากฏให้เห็น ส่วนอาการในระยะต่อไปอาจแสดงอาการเพียงเล็กน้อยไม่ชัดเจน เช่น ท้องผูก (Constipation) หรือ ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel)

อาการโดยทั่วไปของมะเร็งรังไข่ ได้แก่

  • อ่อนเพลีย
  • ท้องอืดหรือท้องบวม
  • รู้สึกอิ่มเร็วเมื่อกิน (Early satiety)
  • ขาบวม
  • น้ำหนักลด
  • รู้สึกไม่สบายตัวบริเวณเชิงกราน
  • การถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก
  • ถ่ายปัสสาวะบ่อย

มะเร็งรังไข่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามตำแหน่งเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ได้แก่

  • มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ (Epithelial tumors) จุดเริ่มต้นอยู่ที่เซลล์เยื่อบุบางๆ ที่ผิวรังไข่ เป็นชนิดที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 90 ของมะเร็งรังไข่
  • มะเร็งเนื้อรังไข่ (Stromal tumors) จุดเริ่มต้นอยู่ที่เนื้อเยื่อเกี่ยวกันของรังไข่ ซึ่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิง (Hormone-producing cells) โอกาสพบประมาณร้อยละ7 ของมะเร็งรังไข่ และเป็นมะเร็งชนิดที่สามารถพบได้ในระยะแรกก่อนชนิดอื่น
  • มะเร็งฟองไข่ (Germ cell tumors) จุดเริ่มต้นอยู่ที่ก้อนเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อนที่ผลิตไข่ (Egg-producing cells) พบได้น้อยมากและมักพบในผู้หญิงอายุที่มีอายุน้อย

ทั้งนี้ ระยะของมะเร็งรังไข่แบ่งออกเป็น

  • ระยะที่ 1 พบเซลล์มะเร็งในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายไปยังส่วนอื่นของเชิงกราน
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายไปยังบริเวณช่องท้อง
  • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายออกไปนอกบริเวณช่องท้อง

แหล่งข้อมูล

1. Ovarian cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ovarian-cancer/basics/definition/con-20028096 [2015, November 4].