เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า ประเภท Monoamine oxidase inhibitor ย่อว่าMAOI(เอมเอโอไอ) เป็นกลุ่มยาที่มีกลไกยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส (Monoamine oxidase enzyme family ย่อว่า MAO ซึ่งมี2ชนิดคือ MAO-A และ MAO-B) ซึ่งใช้เป็นยาเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยมาอย่างยาวนาน โดยถือเป็นยากลุ่มแรกที่มาก่อนยารักษาโรคซึมเศร้าประเภท Selective serotonin reuptake inhibitors

วงการแพทย์ยังนำยา MAOI ไปใช้รักษาอาการโรคอื่นๆอีก อาทิเช่น โรคพาร์กินสัน โรควิตกกังวล อาการบริโภคอาหารผิดปกติ (Bulimia nervosa)

เราสามารถแบ่งกลุ่มของยา Monoamine oxidase inhibitor(MOAI) ได้ดังนี้

1. Nonselective MAO-A/MAO-B inhibitors: ประกอบด้วย 2 กลุ่มย่อย ได้แก่

  • ยาที่มีโครงสร้างของไฮดราซีน (Hydrazines): เช่นยา Isocarboxazid, Nialamide, Phenelzine, และ Hydracarbazin
  • ยาที่มีโครงสร้างของ นอน-ไฮดราซีน (Non-Hydrazines): เช่นยา Tranylcypromine

2. Selective MAO-A inhibitors: เช่นยา Bifemelane, Moclobemide, Pirlindole, และToloxatone

3. Selective MAO-B inhibitors: เช่นยา Rasagiline, Selegiline และ Safinamide

รายการยาที่กล่าวอ้างข้างต้น เป็นรายชื่อที่ยังมีจำหน่ายในตลาดยา แต่ยังมียาหลายตัวที่ถูกถอนออกจากตลาดยา อาจเป็นเหตุผลจากยากลุ่มนี้เกิดปฏิกิริยากับอาหารหลายประเภท และส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา

อย่างไรก็ตามยารักษาโรคซึมเศร้าประเภท Monoamine oxidase inhibitor เคยจัดเป็นยาที่สามารถทำให้การดำเนินชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น แต่ต้องผนวกกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กำกับดูแล รวมถึงการบริหารยาในผู้ป่วยแต่ละรายว่า เหมาะสม ปลอดภัย และก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

สำหรับประเทศไทย ยาในกลุ่ม MAOI จะมีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคพาร์กินสันเท่านั้น อาจตีความหมายได้ว่า การนำมาใช้เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าได้หมดความนิยม วงการแพทย์ได้หันไปใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มอื่นที่มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงน้อยกว่ากลุ่ม MAOI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ยาเอมเอโอไอมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอมเอโอไอ

ยาเอมโอเอไอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการซึมเศร้า ชนิด Bipolar depression
  • รักษาโรคพาร์กินสัน

ยาเอมเอโอไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยา Monoamine oxidase inhibitor (MAOI) มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ ‘เอนไซม์ โมโนเอมีน ออกซิเดส’ (MAO: มี 2ชนิดย่อย คือ MAO-A และMAO-B) ทำให้การทำลายสารสื่อประสาทในสมองกลุ่มที่เรียกว่า Monoamine neurotransmitters (สารสื่อประสาทที่ประกอบด้วยสาร Amine 1 กรุ๊ป /Mono amine เช่น Serotonin, Phenylethylamine ) ลดน้อยลงจึงแสดงผลทางการรักษาตามสรรพคุณ

อนึ่ง:

  • เอนไซม์ โมโนเอมีน ออกซิเดส-เอ (MAO-A) จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารสื่อประสาทของร่างกายโดยเฉพาะในสมอง เช่น Serotonin, Melatonin, Epinephrine, และ Norepinephrine
  • ส่วนเอนไซม์ โมโนเอมีน ออกซิเดส-บี (MAO-B) จะเข้าทำปฏิกิริยากับสารสื่อประสาทของร่างกายโดยเฉพาะในสมองเช่นกัน เช่น Phenylethylamine และ Trace amines

ยาเอมเอโอไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอมเอโอไอมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่นยา

  • Isocarboxazid: ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Moclobemide: เม็ดชนิดรับประทานขนาด 150 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Phenelzine :ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Rasagiline: ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Selegiline: ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • Safinamide: ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Tranylcypromine: ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม/เม็ด

ยารักษาโรคซึมเศร้าเอมเอโอไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยในกลุ่มยาเอมเอโอไอมีหลายรายการ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาฯให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานยาในกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม ยาMAOI ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาMAOI อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาMAOI สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม หากลืมรับประทานยานี้บ่อยๆ หลายครั้ง ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกับตัวผู้ป่วยได้เช่นเดียวกัน

ยารักษาโรคซึมเศร้ามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ทั่วไป ยา MAOI มักจะไม่ใช่ทางเลือกแรกของการนำมารักษากับผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ด้วยมีผลข้างเคียงมากกว่ายารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้ากลุ่มอื่น ซึ่ง ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์จากยาของกลุ่มยาMAOI มีดังต่อไปนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น
    • ปวดศีรษะรุนแรง
    • วิงเวียน
    • คอแข็ง
  • ผลต่อระบบสืบพันธ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศในบุรุษลดลง เช่น ภาวะนกเขาไม่ขัน
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น
    • หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดหัวใจเต้นช้าหรือ หัวใจเต้นเร็ว
    • ความดันโลหิตสูง
    • ใจสั่น
    • เจ็บหน้าอก
    • ใบหน้าบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการลมพิษ

*หมายเหตุ: การรับประทานยากลุ่มนี้เกินขนาด สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอมโอเอไออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาMAOI/เอเอโอไอ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาประเภท MAOI
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ เพราะยากลุ่มนี้ส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้โดยตรง
  • ไม่แนะนำการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือมีประวัติของการเกิด Stroke
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรค Pheochromocytoma
  • หากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัด (Elective surgery) ควรต้องหยุดการใช้ยากลุ่มนี้ เป็นเวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ ด้วยยากลุ่ม MAOI สามารถมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชา ยาสลบ และก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคสุราเรื้อรัง/โรคพิษสุรา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 60 ปี และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม MAOI ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภันฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยาเอมเอโอไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอมเอโอไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาMAOI ร่วมกับการรับประทานอาหารหลายประเภท ซึ่งมีส่วนประกอบของสาร Tyramine และ/หรือ Tryptophan อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมาก จึงควรหลีกเลี่ยงในการรับประทานยานี้ร่วมกับกลุ่มอาหารดังกล่าว เช่น
    • ชีส
    • อะโวคาโด
    • กล้วย
    • เบียร์
    • ตับไก่
    • ช็อกโกแลต
    • ไวน์
    • ซอสถั่ว
    • กุ้ง
    • เนื้อสัตว์
    • อาหารที่มีส่วนประกอบของยีสต์
    • และโยเกิร์ต
  • การใช้ยาMAOI ร่วมกับยารักษาอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้ากลุ่มอื่น อาจทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากการมีสารซีโรโทนิน(Serotonin)ในร่างกายเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่าSerotonin syndrome จึงควรเลี่ยงไม่ใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยา MAOI ร่วมกับ ยาลดความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จึงควรเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาMAOI ร่วมกับยาสงบประสาทหรือยากล่อมประสาท เช่นยา Alprazolam, Diazepam อาจส่งผลให้ฤทธิ์ของการสงบประสาทเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาMAOI ร่วมกับกลุ่มยาลดน้ำหนัก /ยาลดความอ้วน เช่นยา Fenfluramine, Phentermine สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน

ยาเอมเอโอไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

เก็บน้ำมันทีทรีอย่างไร?

ยาMOAI มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Azilect (แอซิเลค)Lundbeck
Julab (จูแล็บ)Biolab
Jumex (จูเม็กซ์)sanofi-aventis
Sefmex (เซฟเม็กซ์)Unison
Marplan (มาร์แพลน)Validus Phamaceuticals

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_oxidase_inhibitor [2018,Dec29]
  2. http://www.webmd.com/depression/monoamine-oxidase-inhibitors-maois-for-depression [2018,Dec29]
  3. http://www.webmd.com/bipolar-disorder/monoamine-oxidase-inhibitors [2018,Dec29]
  4. http://www.medicinenet.com/mao_inhibitors-oral/article.htm [2018,Dec29]
  5. http://www.holisticonline.com/remedies/depression/dep_interactions_MAOI.htm [2018,Dec29]
  6. https://www.erowid.org/chemicals/maois/maois_info2.shtml [2018,Dec29]
  7. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=selegiline [2018,Dec29]
  8. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01247 [2018,Dec29]
  9. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020647s006s007lbl.pdf [2018,Dec29]
  10. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/201971Orig1s000lbl.pdf [2018,Dec29]
  11. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/012342s063lbl.pdf [2018,Dec29]
  12. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/207145lbl.pdf [2018,Dec29]