เอมอาร์ไอ (MRI / Magnetic Resonance Imaging)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 สิงหาคม 2562
- Tweet
- บทนำ:เอมอาร์ไอคืออะไร?
- เอมอาร์ไอมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
- เอมอาร์ไอต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างไร?
- เมื่อไหร่จึงควรตรวจเอมอาร์ไอ? ตรวจส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?
- เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะตรวจเอมอาร์ไอ? มีขั้นตอนการตรวจอย่างไร?
- มีข้อห้ามการตรวจเอมอาร์ไอไหม?
- ตรวจเอมอาร์ไอบ่อยๆเป็นอะไรไหม?
- แพทย์อ่านผลตรวจเอมอาร์ไออย่างไร?
- บรรณานุกรม
- รังสีวิทยา (Radiology) รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic Radiology and Oncology) และ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
- รังสีจากการตรวจโรค รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา (Ionizing radiation)
- เอกซเรย์: การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-ray imaging)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray Computerized Tomography) / ซีทีสแกน (CT-scan)
- อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)
- สารทึบแสง สารทึบรังสี การฉีดสี (Medical contrast medium)
บทนำ: เอมอาร์ไอคืออะไร?
เอมอาร์ไอ (MRI, Magnetic resonance imaging หรือ MRI scan) คือวิธีการตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆวิธีหนึ่งเพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค ทั้งนี้โดยไม่ได้ใช้รังสีเอกซ์/(เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน)
การถ่ายภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะจากเอมอาร์ไอ จะใช้กระบวนการให้เกิดภาพโดยใช้ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง (Powerful magnetic field) ร่วมกับคลื่นวิทยุพลังงานสูง(Powerful radio frequency field) ซึ่งจะให้ภาพที่แตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณของน้ำที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆซึ่งแตกต่างกันในแต่ละชนิดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ก่อให้เกิดเป็นตัวเปรียบเทียบ จึงทำให้เกิดเป็นภาพ ซึ่งเมื่อได้ผ่านการเรียนการสอนทางด้านรังสีวิทยา แพทย์จะสามารถอ่านลักษณะของภาพนั้นๆได้ว่า ปกติ หรือผิดปกติ และความผิดปกตินั้นๆน่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร
เอมอาร์ไอ จะให้ภาพในลักษณะเป็น 3 มิติ และสามารถซอยภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะเป็นแผ่นบางๆในท่าตัดขวาง (Cross section)ได้เช่นเดียวกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่สูงกว่า เอมอาร์ไอ จึงสามารถให้ภาพได้ทั้งในแนวแบ่งซ้ายขวา (Sagittal view/ Sagittal plane) และในแนวแบ่งหน้าหลัง (Coronal view/ Coronal plane) และยังสามารถให้ภาพเปรียบเทียบได้คมชัดกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดังนั้นในการตรวจภาพบางเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ภาพจากเอมอาร์ไอจึงช่วยการวินิจฉัยโรค ได้แม่นยำกว่าจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เช่น กล้ามเนื้อ หลอดเลือด ระบบประสาท
วิวัฒนาการของเอมอาร์ไอ เริ่มในปีค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) โดย Herman Carr นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ต่อมาได้มีการศึกษาเพิ่มเติมโดย Raymond Damadian นายแพทย์ที่เป็นนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันโดยได้สร้างเครื่องเอมอาร์ไอได้ครั้งแรกในปี ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ผู้ป่วยคนแรกที่ได้รับการตรวจเอมอาร์ไอ คือเมื่อ 17 มีนาคม ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515)
ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) Raymond Damadian, Paul Lauterbur นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน และ Sir Peter Mansfield นักเคมีชาวอังกฤษ ได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของเอมอาร์ไอ (ต่างคนต่างศึกษา) แต่มีเพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ Lauterbur และ Mansfield ที่ได้รับรางวัลโนเบิลร่วมกันในปีค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ในฐานะผู้ให้คำอธิบาย และพัฒนาเทคนิคของการใช้เอมอาร์ไอ
เอมอาร์ไอมีประโยชน์และโทษอย่างไร?
เอมอาร์ไอสามารถตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะได้ทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะของร่างกายเช่น เดียวกับ เอกซเรย์ และ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ความแม่นยำชัดเจนของภาพจะเหนือกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เมื่อเป็นการตรวจ สมอง เส้นประสาท กระดูก และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เช่น หลอดเลือด และกล้ามเนื้อ)
อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาก การตรวจด้วยเอมอาร์ไอจึงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ถึงประมาณ 1-3 เท่า ดังนั้นแพทย์จึงเลือกการตรวจด้วยเอมอาร์ไอ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงๆที่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์อาจให้การวินิจฉัยได้ไม่ชัดเจน
ในด้านโทษของเอมอาร์ไอ เนื่องจากเอมอาร์ไอไม่ใช่รังสีเอกซ์(แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องรังสีเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังสีจากการตรวจโรค) จึงไม่มีคุณสมบัติเหมือนรังสีเอกซ์
และจากการศึกษาต่างๆ ยังไม่มีรายงานว่า เอมอาร์ไอก่อให้ เกิดความพิการ หรือการแท้งบุตร หรือ เอมอาร์ไอเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในระยะยาว
แต่เอมอาร์ไอก็ใช้พลังงานแม่เหล็ก และคลื่นวิทยุกำลังสูง ซึ่งยังไม่มีการศึกษาในระยะยาวนานพอที่ จะยืนยันความปลอดภัยจากเอมอาร์ไอได้เต็มร้อย ดังนั้น แพทย์ทุกคนจึงมีความเห็นตรงกันว่า ควรหลีกเลี่ยงการตรวจด้วยเอมอาร์ไอในผู้ตั้งครรภ์ ยกเว้นในกรณีจำเป็นที่ต้องตรวจโดยไม่สามารถมีวิธีการอื่นทดแทนได้
จากการเป็นคลื่นแม่เหล็กกำลังสูง เอมอาร์ไอจึงมีผลต่อการเคลื่อนย้าย/ดูดจับโลหะบางชนิดโดยเฉพาะเหล็ก/สิ่งต่างๆที่มีส่วนผสมของเหล็ก(Ferromagnetic object) และสามารถรบกวนการทำงานของเครื่องไฟฟ้าทุกชนิดได้ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัด หรือข้อห้ามสำหรับการตรวจในผู้ป่วยที่ผ่าตัดหรือให้การรักษาด้วยการเย็บแผล/เนื้อเยื่อด้วยโลหะ (Clip) เพราะแม่เหล็กจะเคลื่อนย้ายโลหะเหล่านี้ให้อยู่ผิดที่ ก่อให้เกิดแผลไม่ติด หรือแผลเลือดออก หรือClipไปอุดตันเนื้อเยื้อใดเนื้อเยื่อหนึ่งได้
การมีชิ้นส่วนโลหะในร่างกาย เช่น ข้อเทียม ก็อาจก่อการเคลื่อนที่ได้ นอกจากนั้นโลหะเหล่านี้รวมทั้งโลหะที่เกิดจากการอุดฟันก่อให้เกิดภาพที่ไม่คมชัดเป็นอุปสรรคต่อการอ่านผล ส่งผลให้การอ่านผลตรวจผิดพลาดได้
เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ไฟฟ้าและโลหะที่อยู่ในตัวเรา เช่น เครื่องปรับการเต้นของหัวใจ (Pacemaker), เครื่องช่วยการได้ยินต่างๆ (ในผู้ป่วยหูหนวก), และประสาทหูเทียม (Cochlear implant), จะถูกรบกวนการทำงานด้วยเอมอาร์ไอ ดังนั้นจะทำให้เครื่องมือเหล่านั้นทำงานผิดปกติ เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงเป็นข้อห้าม/ข้อจำกัดในการตรวจด้วยเอมอาร์ไอ
โลหะต่างๆที่มีอยู่นอกร่างกาย ก็จะก่อให้เกิดภาพที่ผิดปกติได้ เช่น สตางค์, เครื่องประ ดับต่างๆ, เสื้อผ้าที่ติดเครื่องประดับ, รวมทั้งโลหะต่างๆที่มีอยู่ในตัว เช่น จากอุดฟัน, ลูกกระสุนปืนฝังใน, ดังนั้นในการตรวจเอมอาร์ไอ ต้องถอดสิ่งเหล่านี้ออก เช่น ใช้เสื้อผ้าของโรงพยาบาลขณะตรวจ และผู้ป่วยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รังสี และแพทย์ถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วย
การตรวจด้วยเอมอาร์ไอจะให้ภาพชัดเจนขึ้นเมื่อมีการฉีดยา/สาร/ฉีดสีเข้า หลอดเลือดดำด้วย เพื่อช่วยให้เกิดการเปรียบเทียบภาพได้คมชัดขึ้น เช่นเดียวกับในการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่เป็นสีคนละชนิดกัน เรียกว่า Gadolinium-based contrast agent เป็นสีชนิดไม่มีสารไอโอดีน จึงลดโอกาสเกิดการแพ้สีลงไปได้มาก และเมื่อแพ้ อาการจะไม่รุนแรง แต่ในผู้ป่วยที่มีการทำงานผิดปกติของไต สารนี้อาจก่อให้เกิดพังผืดขึ้นในไต และอาจเกิดไตวายได้ (พบได้ไม่บ่อยนัก) ดังนั้น ก่อนการตรวจเอมอาร์ไอจึงต้องมีการตรวจเลือดดูการทำงานของไต เช่น เดียวกับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์บางท่านครอบคลุมไปถึงการตรวจการทำงานของตับด้วย
หลังฉีดสีประมาณ 1-2 นาที ผู้ป่วยอาจรู้สึกร้อน บางคนอาจรู้สึกเย็น บางคนอาจรู้สึกมีรสชาติโลหะในปาก
นอกจากนั้น ยา/สีตัวนี้ยังผ่านออกทางน้ำนมได้ ถึงแม้การศึกษาไม่พบว่าสารนี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกที่ดื่มนมแม่ แต่แพทย์หลายท่าน ยังคงแนะนำให้งดให้นมลูกหลังการตรวจฯ 24-48 ชั่วโมง
การทำงานของเครื่องตรวจเอมอาร์ไอจะมีเสียงดังกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่อาจแนะนำใช้ที่อุดหูขณะทำการตรวจ หรือบางคนที่กลัวที่แคบ อาจต้องให้ยาผ่อนคลาย หรือยานอนหลับขณะตรวจ เพราะการตรวจด้วยเอมอาร์ไอใช้เวลานานกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มักนาน 30 นาทีขึ้นไป ขึ้นกับว่าเป็นการตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด และเพื่อการวินิจฉัยโรคอะไร
ในขณะตรวจ ผู้ป่วยจะอยู่เพียงลำพัง โดยมีเจ้าหน้าที่รังสีเฝ้าดูผ่านกล้องวงจรปิด สามารถพูดคุยกันผ่านทางเครื่องอินเทอร์คอม (Intercom) และผู้ป่วยส่งสัญญาณได้ตามที่เจ้า หน้าที่แนะนำไว้
ในการตรวจที่ต้องใช้เวลานานๆ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อนทั้งตัวได้ จากปฏิกิริยาของคลื่นวิทยุต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย นอกจากนี้ คลื่นวิทยุยังอาจก่อการระคายเคืองต่อผิวหนังที่ปิดยาต่างๆไว้ หรือต่อหนังตาเมื่อใช้เครื่องสำอางที่หนังตา ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ในวันตรวจด้วย
เอมอาร์ไอต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างไร?
เอมอาร์ไอ ต่างจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นการใช้รังสีคนละชนิดกัน เอมอาร์ไอเป็นคลื่นแม่เหล็กและคลื่นวิทยุ แต่เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ใช้รังสีเอกซ์ การให้ภาพจะมีลักษณะแตก ต่างกัน ในบางเนื้อเยื่อ/อวัยวะเอมอาร์ไอจะให้ความแม่นยำในการตรวจสูงกว่า แต่เอมอาร์ไอก็มีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูงกว่า ดังนั้นการเลือกตรวจด้วยเอมอาร์ไอ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงขึ้นกับ ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์
เมื่อไหร่จึงควรตรวจเอมอาร์ไอ? ตรวจส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?
เอมอาร์ไอตรวจได้ทุกเนื้อเยื่อและทุกอวัยวะเช่นเดียวกับ เอกซเรย์ และกับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แต่ความแม่นยำจะสูงกว่าเมื่อเป็นการตรวจภาพของ สมอง เส้นประสาท หลอดเลือด กล้ามเนื้อ และกระดูก
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคทุกโรคแพทย์จะใช้หลายๆปัจจัยร่วมกัน ทั้งจากประวัติอาการของผู้ป่วย, ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ, การตรวจร่างกาย, การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ, อาจร่วมกับการตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้วย เอกซเรย์ธรรมดา, อัลตราซาวด์, และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยเอมอาร์ไอซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงกว่า ยกเว้นกรณีที่จำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะตรวจเอมอาร์ไอ? มีขั้นตอนการตรวจอย่างไร?
ขั้นตอนการตรวจเอมอาร์ไอ เริ่มจากการนัดตรวจกับแผนกเอกซเรย์ (รังสีวินิจฉัย) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสอบถามประวัติการรักษาต่างๆโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการมีโลหะในร่างกาย, โอกาสในการตั้งครรภ์, ผลตรวจการทำงานของไต, อาจมีการเซ็นต์ใบยินยอมการตรวจ, และการให้คำแนะนำต่างๆ
ก่อนออกจากหน่วยรังสีวินิจฉัย ผู้ป่วยและครอบครัวควรต้องอ่านเอกสารแนะนำการปฏิบัติตนในวันตรวจให้เข้าใจ เพราะผู้ที่จะตอบคำถามในเรื่องวิธีการตรวจได้ คือเจ้าหน้าที่หน่วยรังสีวินิจฉัยเท่านั้น แพทย์ พยาบาลหน่วยงานอื่นๆไม่สามารถให้คำตอบทดแทนได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะทาง
วันนัดตรวจ ห้ามสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับที่มีส่วนผสมของโลหะ, ไม่ควรแต่งหน้าดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ประโยชน์และโทษ, งดอาหารและน้ำดื่มตามเอกสารแนะนำ ซึ่งมักต้องงดอาหารและน้ำดื่มอย่างน้อยประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ, และควรมาถึงห้องตรวจก่อนเวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเพื่อขั้นตอนทางเอกสารของเจ้าหน้าที่
เมื่อมาถึง เจ้าหน้าที่จะสอบถามและทบทวนข้อห้ามที่สำคัญอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อใช้ของโรงพยาบาล
เจ้าหน้าที่อาจแนะนำเรื่องการใช้ที่อุดหู หรืออาจต้องให้ยาสงบอารมณ์ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน
การตรวจจะโดยนอนหงายนิ่งๆบนเตียง ซึ่งเตียงจะค่อยๆเคลื่อนช้าๆเข้าไปในอุโมงค์เครื่องฯ อาจต้องอยู่ในอุโมงค์เครื่องฯนานเป็นชั่วโมงขึ้นกับว่าเป็นการตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะอะไร
เมื่อตรวจเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ยังคงแนะนำให้นอนต่ออีกสักพักจนผู้ป่วยผ่อนคลาย สามารถลุกขึ้นนั่งได้โดยไม่ มึนงง วิงเวียน หลังจากนั้นจึงอนุญาตให้ออกจากห้องตรวจ เปลี่ยนเสื้อผ้า และนัดหมายการรับผลตรวจจากเจ้าหน้าที่
หลังการตรวจเสร็จสิ้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ โดยไม่มีแสง หรือรังสี หรือ พลังงานใดๆคั่งค้างในตัว คลุกคลีกับทุกคนรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
มีข้อห้ามการตรวจเอมอาร์ไอไหม?
ข้อห้ามหรือข้อจำกัดการตรวจด้วยเอมอาร์ไอที่สำคัญคือ เมื่อมีการทำงานของไตผิดปกติ และการมีโลหะต่างๆอยู่ในร่างกาย ส่วนการตั้งครรภ์ อาจตรวจด้วยเอมอาร์ไอได้เมื่อมีความจำเป็นที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการตรวจวิธีอื่นๆ รวมทั้งถ้าไม่ได้รับการตรวจ อาจเป็นสาเหตุให้มารดาถึงพิการ หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้แพทย์จะปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยก่อนเสมอ
ตรวจเอมอาร์ไอบ่อยๆเป็นอะไรไหม?
การตรวจทุกๆอย่างทางการแพทย์ต้องมีข้อบ่งชี้เสมอว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ถ้าจำ เป็นก็ต้องตรวจ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตรวจ ดังนั้นการตรวจเอมอาร์ไอซ้ำบ่อยๆจึงขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา
แพทย์อ่านผลตรวจเอมอาร์ไออย่างไร?
แพทย์ผู้ที่อ่านผลการตรวจเอมอาร์ไอ จะเป็นแพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยา ซึ่งการอ่านผลถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนมักได้ผลในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากกว่ามาก การอ่านผลมักใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 วันขึ้นไป โดยทั่วไปแพทย์รังสีวินิจฉัยมักนัดผู้ป่วยรับผลตรวจในวันนัดตรวจโรคกับแพทย์เจ้าของไข้ผู้ให้การรักษาผู้ป่วย
การรายงานผลจะประกอบด้วย ใบอ่านผล และตัวภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ตรวจ ซึ่งอาจเป็นฟิล์ม กระดาษ ซีดี หรือ วีซีดี ดังนั้นในการรับผลตรวจ ผู้ป่วยและครอบครัวต้องตรวจสอบก่อนว่าได้ผลครบทั้งสองอย่างหรือไม่
ในการพบแพทย์ผู้รักษาโรคทุกคน และทุกครั้ง ผู้ป่วยควรต้องนำใบอ่านผลพร้อมฟิล์มเอกซเรย์ หรือซีดีต่างๆติดตัวมาด้วยเสมอ เพื่อแพทย์ต้องการทราบข้อมูล และเพื่อเมื่อมีการตรวจซ้ำ จะได้ใช้เปรียบเทียบผลตรวจในแต่ละครั้ง ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำของการตรวจ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
เมื่อมีการตรวจวินิจฉัย รักษา ผู้ป่วยทุกคนควรมีการจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ของตน และควรมีกระเป๋าเฉพาะจัดเก็บไว้ในที่ที่มองเห็นง่ายและทุกคนในครอบครัวรับทราบ เมื่อจะมาพบแพทย์ จะได้หยิบฉวยได้สะดวก ครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่อง รวมทั้งจดรายการยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่ และคำถามหรือข้อสงสัยเพื่อกันลืมเพื่อจะได้สอบถามแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าทีได้อย่างที่ต้องการและรวดเร็วขึ้น
อนึ่ง เช่นเดียวกับการตรวจทุกชนิด การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะด้วยเทคนิคต่างๆรวม ทั้งเอมอาร์ไอให้ผลผิดพลาดได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคประมาณ 10-15% โดยเป็นความผิด พลาด อาจในลักษณะที่มีโรคแต่ตรวจไม่พบ หรือไม่มีโรคแต่ให้ภาพว่าน่ามีโรค ดังนั้นในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งซึ่งต้องได้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน ที่สำคัญคือ อาการผู้ป่วย, การตรวจร่างกาย, การตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะ และอาจจำเป็นต้องมีการตรวจทางพยาธิวิทยา (และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา) ร่วมด้วย
บรรณานุกรม
- Kangarlu, A., and Robitaille, P. (2000). Biological effects and health implications in Magnetic resonance imaging. Concepts in magnetic resonance. 12, 321-359. http://www.imrser.org/PDF/Kangarlu.Concepts.Mag%20Res.pdf [2019,July13]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Magnetic_resonance_imaging [2019,July13]
- https://www.who.int/peh-emf/meetings/archive/en/paper04ng.pdf [2019,July13]
- https://www.fda.gov/radiation-emitting-products/medical-imaging/mri-magnetic-resonance-imaging [2019,July13]
- https://patient.info/treatment-medication/mri-scan [2019,July13]