เอดส์จากเอชไอวี ชีวิตรอวันตาย (ตอนที่ 6 และตอนสุดท้าย)

อนุสนธิข่าวจากวันก่อน การสัมนาวิชาการเรื่องการทำงานกับโรคเอดส์ที่จังหวัดพะเยา ได้มีการจัดกิจกรรมเสริมหนุนการสอนเจ้าหน้าที่ แล้วยังมีการเดินรณรงค์ลดการติดเชื้อโรคเอดส์ โดยเริ่มขบวนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา ผ่านหน้าตลาดสดพะเยาอาเขต ผ่านแยกประตูเหล็กไปตามถนนเพื่อเข้าสู่บริเวณการจัดงานสัมนาที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์

ในส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนั้น สามารถลดการสัมผัสเชื้อเอชไอวีได้โดยปฏิบัติงานด้วยมาตรการระมัดระวัง (Precaution) อาทิ การใช้สิ่งกำบังเช่นถุงมือ หน้ากาก กระจกกันตา เสื้อกาวน์ และผ้ากันเปื้อน การล้างผิวหนังมากครั้งและทั่วถึงหลังสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ก็จะลดโอกาสที่เชื้อจะสัมผัสผิวหนังหรือเยื่อบุได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังต้องป้องกันอุบัติเหตุถูกทิ่มตำด้วยวัตถุมีคม อาทิ เข็ม และใบมีด ซึ่งควรจะต้องใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Disposable) [เพื่อมิให้เป็นสื่อในการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่น]

ในปี พ.ศ. 2533 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้จัดกลุ่มภาวะและการติดเชื้อเอชไอวีไว้ด้วยกันโดยเสนอระบบการแบ่งระยะโรคของผู้ติดเชื้อ ต่อมาจึงได้รับการปรับปรุงแก้ไขในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ภาวะส่วนใหญ่ที่ระบุไว้นี้เป็นการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection) ที่มักจะรักษาได้ง่ายในคนปรกติ

  • ระยะที่ 1: การติดเชื้อเอชไอวี ไม่มีอาการ ไม่จัดเป็นโรคเอดส์
  • ระยะที่ 2: มีการแสดงออกทางเยื่อเมือก และการติดเชื้อซ้ำ (Recurrent) ในทางเดินหายใจส่วนบน
  • ระยะที่ 3: นับรวมอาการท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งเดือนที่อธิบายไม่ได้ การติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง และวัณโรคปอด
  • ระยะที่ 4: นับรวมการติดเชื้อในสมอง (Toxoplasmosis) การติดเชื้อรา (Candida) ในหลอดอาหาร หลอดลม หรือปอด และเนื้องอกที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาส (Kapaosi's sarcoma) จัดว่าเป็นโรคเอดส์

นิยามหลักๆ ของเอดส์เดิมกำหนดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ในสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยโรคที่พบร่วมกับเอดส์ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 CDC ได้ขยายนิยามของโรคเอดส์ให้ครอบคลุมถึงผู้มีผลตรวจเอชไอวีเป็นบวก ทุกคนที่มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์ต่อไมโครลิตร (cell/mm3) หรือน้อยกว่า 14% ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ให้หายขาด วิธีป้องกันโรคมีอย่างเดียวคือหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อไวรัส หรือถ้าได้รับมาแล้วก็ต้องใช้ยาต้านไวรัสทันที เรียกว่า “การป้องกันโรคหลังการสัมผัส” (Post-exposure prophylaxis : PEP) ซึ่งแพทย์จะให้ยาติดต่อกัน 4 สัปดาห์โดยมีตารางเคร่งครัด และมีผลข้างเคียง อาทิ ท้องเสีย รู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย

ปัจจุบัน การวิจัยหาวิธีรักษาใหม่ๆ ยังคงดำเนินไปตลอดเวลา แต่เชื้อเอชไอวีก็พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ให้ดื้อยาต้านเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ประมาณการอายุขัยของผู้ป่วยก็ยังเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยทั่วไปหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในหนึ่งปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการติดเชื้อฉวยโอกาส หรือมะเร็งที่พบร่วมกับการสูญเสียการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

อัตราการดำเนินโรคนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ ตั้งแต่พื้นฐานภูมิไวรับ (Susceptibility) และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วย การดูแลสุขภาพ และการติดเชื้อร่วมด้วย รวมถึงชนิดของไวรัสที่ได้รับ แต่แม้จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีอาการทางระบบประสาท ภาวะกระดูกพรุน โรคเส้นประสาท (Neuropathy) โรคมะเร็ง โรคไต และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยที่ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่า ภาวะเหล่านี้เกิดมาจากการติดเชื้อ เกิดจากภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นผลข้างเคียงของการรักษามากกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.ยันเอดส์พะเยาลดแล้ว - แต่ปัญหาสาธารณสุขและสังคมโผล่แทน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000005333 [2012, January 22].
  2. เอดส์ http://th.wikipedia.org/wiki/เอดส์ [2012, January 22].