เหน็บชาเพราะปลาร้า (ตอนที่ 2)

เหน็บชาเพราะปลาร้า

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคนี้จะพบในคนที่ผอมแห้งแรงน้อย แต่แท้จริงคนทั่วไปก็ป่วยโรคได้ เพราะพฤติกรรมการกินที่ขาดวิตามินบี 1 ทั้งการกินแต่ข้าวขาว อาหารขยะต่างๆ หรืออาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1

โดยที่ผ่านมาพบนักกีฬาหรือผู้ใช้แรงงานที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ก็ป่วย เพราะกินข้าวขาวอย่างเดียวในปริมาณมากแต่ไม่มีวิตามินบี 1 ก็สามารถทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินบี 1 ได้ จึงต้องมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และควรเสนอให้การกินข้าวกล้องเป็นวาระแห่งชาติ

ด้าน นพ.กมล แซ่งปึง แพทย์ รพ.บึงกาฬ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว รพ.บึงกาฬ ได้ลงพื้นที่ตรวจผู้ต้องขังทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำพบว่า มีภาวะขาดวิตามินบี 1 เช่นกัน จึงคาดว่าคนในพื้นที่อาจจะมีภาวะนี้อยู่เดิม

โดยหลังจากนี้จะเตรียมการเก็บข้อมูลของคนในพื้นที่เพื่อให้ทราบว่ามีภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือไม่ โดยจะเก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่กินปลาร้าดิบ ปลาร้าสุก และผู้ที่ไม่กินปลาร้า เนื่องจากมีสมมติฐานว่า ปลาร้าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1 เนื่องจาก ปลาร้ามีสารที่ทำลายวิตามินบี 1

โรคเหน็บชา (Beriberi) เป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินบี 1 หรือ ไทอามีน (Vitamin B1 / Thiamine) ซึ่งโดยปกติร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินบี 1 หรือ ไทอามีน ขึ้นเองได้ ต้องรับประทานจากอาหารหรืออาหารเสริม เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีคุณสมบัติพิเศษคือไม่มีพิษตกค้าง ถ้ามีมากเกินไปร่างกายจะขับออกมาทันที

วิตามินบี 1 มีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน ทำให้เกิดพลังงานเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญของระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท หากร่างกายได้รับวิตามินบี 1ไม่เพียงพอ จะทำให้เป็นโรคเหน็บชา

โดยหลังจากที่ร่างกายมีการแปลงวิตามินบี 1 หรือ ไทอามีน ให้อยู่ในรูปลักษณะของไดฟอสเฟต ไทอามีนจะสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ได้แก่

  • เมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate metabolism) ซึ่งเป็นขบวนการทางชีวเคมีต่าง ๆ ที่เป็นเหตุของการสร้าง การสลาย และการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรตในสิ่งมีชีวิต
  • สร้างสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) อย่างกรดกลูตามิก (Glutamic acid) และกาบ้า (GABA)
  • เมแทบอลิซึมของลิพิด (Lipid metabolism) ที่จำเป็นต่อการสร้างไมอีลิน (Myelin)
  • เมแทบอลิซึมของกรดอะมิโน (Amino acid metabolism)
  • ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบประสาท (Neuromodulation)

แหล่งข้อมูล

  1. คาด “ปลาร้า” ต้นเหตุทำ “โรคเหน็บชา” หวนระบาด พบนักโทษอีสานป่วยอื้อ http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000023035 [2015, March 11].
  2. Beriberi. http://en.wikipedia.org/wiki/Beriberi [2015, March 11].