เส้นเลือดทำไมต้องขอด (ตอนที่ 1)

เส้นเลือดทำไมต้องขอด-1

      

      ภาวะเส้นเลือดขอดพบมากในคนไทย บางรายอาจมีอาการไม่มากเห็นเพียงเส้นเลือดแดงฝอยไปจนถึงโป่งมากขึ้น ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิตแต่ถ้าปล่อยไว้นานอาจส่งผลกระทบตามมา

      นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หลอดเลือดดำที่บริเวณขา ประกอบด้วยลิ้นของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนในหลอดเลือดเป็นปกติ เมื่อเกิดภาวะที่ลิ้นเหล่านี้ทำงานผิดปกติจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ การยืนนานๆ การตั้งครรภ์ หรือสาเหตุอื่นๆ ผนังของลิ้นหลอดเลือดจะมีการยืดตัวทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ

      เกิดการเพิ่มความดันในหลอดเลือดดำจนทำให้ขยายตัวมากขึ้น มีลักษณะเป็นเส้นเลือดฝอยแดง เส้นเลือดขอด ขาบวม สีคล้ำมากขึ้น ผื่นผิวหนังอักเสบ ภาวะหนังแข็ง จนเกิดเป็นแผล ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อย แสบร้อนและมีตะคริวร่วมด้วย

      นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวถึงการรักษาเส้นเลือดขอดว่า จำเป็นต้องตรวจเพิ่มโดยวิธีอัลตราซาวด์เพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือด และวางแผนการรักษาของแพทย์ โดยการรักษาภาวะหลอดเลือดดำผิดปกติอาจจะใช้เวลานานขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และรอยโรคตามผิวหนัง หรืออาการต่างๆ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ทันที โดยการรักษามีหลายวิธี เช่น

1. การผ่าตัดเส้นเลือดดำที่บริเวณต้นขา เหมาะในรายที่เส้นเลือดดำมีลักษณะขดมาก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเล็กได้ ผลการรักษาดี แต่มีระยะเวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน

2. การรักษาโดยใช้สายสวนหลอดเลือดร่วมกับคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ ใช้รักษาหลอดเลือดดำที่มีปัญหาลิ้นผิดปกติ จะมีแผลขนาดเล็ก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย

3. การฉีดสารทำลายหลอดเลือดในรูปแบบโฟมภายใต้การอัลตราซาวด์ ใช้รักษาในรายที่หลอดเลือดมีลักษณะขดไปมา ไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีสายสวนได้

4. การรักษาด้วยเลเซอร์และสารทำลายหลอดเลือด ใช้ในการรักษาหลอดเลือดดำฝอย และเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก เหมาะกับผู้ที่ไม่มีภาวะลิ้นหลอดเลือดดำผิดปกติ หรือผ่านการรักษาลิ้นหลอดเลือดมาแล้ว

      ด้านแพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดดำผิดปกติ คือ

- ไม่ควรยืนหรือนั่งเฉยๆ เป็นเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หรือขยับข้อเท้ากรณีที่ไม่สามารถลุกออกจากที่นั่งได้ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

- ควรยกขาสูงกว่าระดับหัวใจในเวลาพัก เช่น เอาหมอนหนุนที่บริเวณขาในท่านอน ยกขาสูงอย่างน้อย 10 นาที จำนวน 1-2 ครั้งต่อวัน

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์แนะวิธีเยียวยา “เส้นเลือดขอด”. http://www.thaihealth.or.th/Content/40295-แพทย์แนะวิธีเยียวยา “เส้นเลือดขอด”.html [2018, February 20].