เสี่ยงไหมกับเมลาโทนิน (ตอนที่ 2)

เสี่ยงไหมกับเมลาโทนิน-2

Cathy Goldstein ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา ประจำ University of Michigan Sleep Medicine Clinic กล่าวว่า การใช้เมลาโทนินระยะสั้นในผู้ใหญ่น่าจะก่อให้เกิดผลดี แต่ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะเมลาโทนินสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ดร. Michael Breus ยังกล่าวว่า การกินเมลาโทนินที่มากอาจทำให้ฝันร้ายและมีอาการมึนงง (Grogginess) ในวันรุ่งขึ้น ทั้งยังทำให้ยาตัวอื่นออกฤทธิ์ได้น้อยลง เช่น ยาความดันโลหิตสูง ยากันชัก และยาคุมกำเนิด

และเนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่ได้รับการควบคุมมากเหมือนยา ดังนั้นคุณภาพของแต่ละยี่ห้อจึงแตกต่างกันไป โดยงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 71 ของอาหารเสริมเมลาโทนินมีส่วนประกอบไม่ตรงตามที่ระบุบนฉลาก บางยี่ห้อมีปริมาณเมลาโทนินมากกว่าที่ระบุถึง 4 เท่า และร้อยละ 26 มีการผสมสารสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Neurotransmitter serotonin) ที่ใช้ในยาต้านซึมเศร้าหลายตัว

ดังนั้น จึงควรระมัดระวังถึงการใช้เมลาโทนินในเด็กเป็นอย่างมาก ตลอดจนต้องคำนึงถึงการใช้เป็นระยะเวลานานด้วย

ในปี พ.ศ.2558 นักวิจัยจากออสเตรเลียได้เปิดเผยถึงงานวิจัยในตัวหนูว่า เมลาโทนินมีผลต่อระบบสืบพันธุ์และความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในวัยเจริญพันธ์ (Puberty) ของหนู แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยถึงผลกระทบในตัวเด็ก

ซึ่งเรื่องนี้ ดร. Michael Breus กล่าวว่า เขาจะไม่ใช้เมลาโทนินในเด็ก เพราะยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าปลอดภัยต่อเด็กหรือไม่

ในขณะที่ Cathy Goldstein กล่าวว่า ควรเลือกยี่หัอที่เชื่อถือได้ และกินให้น้อยกว่า 3 มิลลิกรัม เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง และให้หยุดกินหากการนอนกลับมาเป็นปกติแล้ว ทั้งนี้เพราะเรายังไม่ทราบว่าปลอดภัยสำหรับการใช้เป็นระยะเวลานานหรือไม่

เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไพเนียล (Pineal gland) ในสมอง เพื่อช่วยควบคุมวงจรการนอนและการตื่นของร่างกาย โดยจะเริ่มหลั่งในตอนบ่ายแก่ และมีการหลั่งมากในตอนกลางคืน ทำให้เรานอนหลับ จนมีการเรียกเมลาโทนินว่าเป็น “Dracula of hormones” ส่วนในช่วงกลางวันเมื่อเริ่มมีแสงสว่าง ระดับเมลาโตนินจะลดลง ทำให้เราตื่น ลุกขึ้นมาทำกิจวัตรประจำวันได้

แสงจะมีผลต่อปริมาณการที่ร่างกายหลั่งเมลาโทนิน โดยในฤดูหนาว ร่างกายอาจจะผลิตเมลาโทนินได้ไวหรือช้ากว่าวันปกติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า ความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดู (Seasonal affective disorder = SAD) หรือ ซึมเศร้าเมื่อเข้าหน้าหนาว (Winter depression)

แหล่งข้อมูล:

  1. Melatonin Benefits, Risks: What You Need to Know. https://www.webmd.com/sleep-disorders/news/20171004/is-natural-sleep-aid-melatonin-safe [2017, October 30].
  2. Melatonin - Overview. https://www.webmd.com/sleep-disorders/tc/melatonin-overview#1 [2017, October 30].
  3. Melatonin and Sleep. https://sleepfoundation.org/sleep-topics/melatonin-and-sleep [2017, October 30].