เล่าเรื่องปวดหัว ตอนที่ 5 ผมปวดหัวมาตรวจตาผมทำไม

เล่าเรื่องปวดหัว

การตรวจร่างกาย เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการให้การวินิจฉัยโรค ต่อจากการสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยืนยันว่ามีความผิดปกติของอวัยวะส่วนไหน ระบบไหนของร่างกายและบอกสาเหตุของความผิดปกตินั้นๆ ได้ ถึงแม้จะมีเพียงอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หมอก็จะต้องตรวจร่างกายส่วนอื่นๆ ด้วย เพื่อยืนยันว่าไม่มีความผิดปกติ หรืออาจพบว่ามีความผิดปกติโดยไม่มีอาการก็ได้ แต่จะทำให้หมอสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร

“หมอขอตรวจตาหน่อยนะครับ จะแสบตาหน่อยนะครับ ให้ลืมตา มองไปตรงๆ ที่ข้างฝาเลยนะครับ หมอจะใช้ไฟส่องเข้าไปในลูกตาเราหน่อยนะครับ” ผมบอกกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมีอาการอาเจียน เป็นมานาน 1 เดือน ผมกำลังสงสัยว่ามีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงหรือไม่ (increased intracranial pressure) ขณะที่ผมกำลังตรวจอยู่นั้น ผู้ป่วยก็หลับตาแล้วไม่ยอมให้ตรวจต่อ บอกกับผมว่า “หมอครับ ผมปวดหัวนะครับ ไม่มีอาการปวดตาหรือเจ็บตาเลย หมอมาส่องตาผมทำไม ผมไม่ปวดตา ก็เลยปวดตาเลย มันแสบตาทรมานนะครับหมอ พอแล้วครับ ผมไม่ตรวจแล้วครับ”

ผมต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าการตรวจที่ผมกำลังตรวจอยู่นั้น เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยมีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงหรือไม่ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย โดยแพทย์สามารถประเมินได้จากการส่องตรวจจอประสาทตา ที่หมอกำลังทำอยู่ครับ

ในการตรวจร่างกายที่ครบถ้วน แพทย์จะต้องตรวจทั้งระบบประสาทให้ครบถ้วนและตรวจร่างกายระบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะอาการปวดศีรษะนั้นอาจไม่ได้มีความผิดปกติที่ระบบประสาทเท่านั้น แต่อาจมีสาเหตุจากส่วนอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบประสาท เช่น มะเร็งของปอดกระจายมาที่สมอง เป็นต้น

ดังนั้นแพทย์ จึงต้องตรวจร่างกายในส่วนที่จำเป็นให้ครบถ้วน เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องครับ