เลือดจาง....ไปไหนกัน (ตอนที่ 1)

เคยไหม ที่มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย หงุดหงิด หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น หรือมีคนทักว่าซีด เหลือง หากมี เป็นไปได้ว่าท่านอาจกำลังมีภาวะเลือดจางอยู่

ผศ.นพ.ชัยเจริญ ตันธเนศ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ภาวะเลือดจาง หรือเรียกกันติดปากว่า ภาวะซีด เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ภาวะนี้พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป

ส่วนการจะบอกว่าใครมีภาวะเลือดจางนั้น อาจดูจากอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากปกติเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้นการที่เม็ดเลือดแดงลดลงจะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ผิดปกติไปด้วย

ผศ.นพ.ชัยเจริญ กล่าวว่า อาการมีได้ตั้งแต่เหนื่อยง่ายกว่าเดิม จากเมื่อก่อนเคยเดินขึ้นลงบันไดหลายชั้นได้สบายๆ เมื่อมีภาวะเลือดจางก็อาจเหนื่อยตั้งแต่เดินขึ้นชั้นที่ 2 บางคนอาจรู้สึกหงุดหงิด ความคิดความอ่านไม่แจ่มใส หากเป็นรุนแรง อาจมีอาการมึน วูบ หรือหมดสติได้

นอกจากนี้บางรายอาจมีความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ถึงขั้นหัวใจล้มเหลว หรือผู้ป่วยหลายรายอาจถูกทักว่า “พักนี้ดูซีด ดูเหลือง” ซึ่งทำให้ต้องระวังว่า อาจจะกำลังมีภาวะเลือดจางอยู่ก็เป็นได้

ผศ.นพ.ชัยเจริญ ชี้แจงว่า อาการของภาวะเลือดจางจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับของเม็ดเลือดแดง และความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะเลือดจางที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ตรวจพบเลือดจางเนื่องจากไปบริจาคเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปี บางรายอาจตรวจพบได้เมื่อมีอาการมากแล้ว

ส่วนสาเหตุใหญ่ๆ ของภาวะเลือดจาง ผศ.นพ.ชัยเจริญ อธิบายว่า สามารถเกิดได้จาก

  1. การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เช่น ขาดสารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิค โรคไตเรื้อรัง โรคของไขกระดูก โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  2. การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้น โรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงอายุสั้นและแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวและตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย เช่น โรคธาลัสซีเมีย ภาวะพร่อง G6PD มาลาเรีย
  3. การเสียเลือดอย่างฉับพลัน จากอุบัติเหตุ ภาวะตกเลือดหลังคลอดบุตร

เมื่อเกิดความสงสัยเกี่ยวกับภาวะเลือดจาง แพทย์จะทำการซักถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ จากนั้นจะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความเร่งด่วนของการรักษา หากเลือดจางรุนแรงมาก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้ออกซิเจน นอนพัก ไม่ออกแรง และอาจต้องให้เลือดแดงทดแทนด้วย

ผศ.นพ.ชัยเจริญ กล่าวในตอนท้ายว่า หลักการรักษาภาวะเลือดจางที่สำคัญ คือ การหาสาเหตุและรักษาให้ตรงจุด บางครั้งการพบภาวะเลือดจางอาจทำให้ตรวจพบสาเหตุที่เป็นโรคร้ายแรงที่แอบซ่อนอยู่ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้น การตรวจหาสาเหตุของภาวะเลือดจาง จะเป็นประโยชน์ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเนิ่น ๆ

แหล่งข้อมูล

1. ภาวะเลือดจาง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000050281 [2014, June 11].