สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ตาขี้เกียจจากสายตาผิดปกติ (Refractive amblyopia)

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-32

      

      ตาขี้เกียจ เป็นภาวะที่ตาข้างนั้น (ส่วนมากเป็นข้างเดียว) มีการมองเห็นลดลงโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือบางรายพบสาเหตุแล้ว เช่น มีสายตาเอียง ซึ่งแม้รับการแก้ไขแล้ว ตาข้างเป็นก็ยังมัวกว่าปกติ ในกรณีแม้มีสายตาสั้นมากข้างหนึ่ง ถ้าแก้ไขโดยการใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์แล้วกลับมาเห็นปกติ กรณีนี้ไม่ใช่ตาขี้เกียจ และโดยทั่วไปตาขี้เกียจมักจะมัวลงกว่าปกติ เช่น น้อยกว่าปกติตั้งแต่ 2 แถวขึ้นไป อีกทั้งการมองตัวเลขที่เป็นแถวจะไม่ชัด แต่หากเอาตัวเลขขนาดเดียวกันเพียงตัวเดียวทีละตัว อาจพอมองเห็น เรียกกันว่า crowding phenomenon และตาขี้เกียมักจะไม่มัวถึงขนาดตาบอด

      สาเหตุของตาขี้เกียจที่สำคัญอันหนึ่ง คือ ภาวะสายตาผิดปกติ

      ในเด็กทั่วไปที่มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง ส่วนมากเมื่อใส่แว่นจะมีการมองเห็นปกติ จึงไม่ใช่ภาวะตาขี้เกียจ แต่สายตาผิดปกติที่มักมีตาขี้เกียจ ได้แก่

1. สายตาสั้นในตา 2 ข้าง ทั้งที่ต่างกันมาก เช่น อาจต่างกันมากกว่า 300 ขึ้นไป (บางตำราว่ามากกว่า 600 ขึ้นไป) ถ้าต่างกันน้อยกว่า 300 มักไม่เกิดภาวะตาขี้เกียจ เพราะสายตาสั้นไม่ใส่แว่น ยังมองภาพระยะใกล้ได้ชัดเจนดี

2. สายตายาวหรือเอียง ต่างกัน 100 – 300 ตาข้างที่เป็นมากกว่ามักจะเป็นตาขี้เกียจ ทั้งนี้เพราะสายตายาวและเอียงนั้นมองไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล แม้ต่างกันไม่มาก ข้างที่เป็นมากอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจได้

3. สายตาผิดปกติมาก แม้ 2 ตาจะไม่ต่างกันมาก เช่น สายตาสั้นมากกว่า 600 ทั้ง 2 ตา หรือตายาวมากกว่า 500 ทั้ง 2 ตา หรือตาเอียงมากกว่า 200 ทั้ง 2 ตา ในกรณีนี้มักเป็นตาขี้เกียจทั้ง 2 ตา ไม่ว่าจะแก้ไขด้วยแว่นที่เหมาะที่สุด สายตาก็ยังไม่เห็นเท่าคนปกติ

      ตัวอย่างของผู้มีสายตาที่มีแนวโน้มอาจมีภาวะตาขี้เกียจ ได้แก่

1. ตาขวาสั้น 100 ตาซ้ายสั้น 400

2. ตาขวายาว 100 ตาซ้ายยาว 300

3. ตาขวาไม่เอียง แต่ตาซ้ายเอียง 200

4. ตาทั้ง 2 ข้างสั้น 900

5. ตาทั้ง 2 ข้างยาว 500

*ดูแลบุตรหลาน หากมีสายตาผิดปกติ ต้องคอยดูว่ามีโอกาสเป็นตาขี้เกียจหรือไม่