เรื่องน่ารู้จากหมอตา ตอนที่ 3 ความดันตาผันแปร ( Intraocular pressure variation )

เรื่องน่ารู้จากหมอตา

ดวงตาคนเราเป็นรูปทรงค่อนข้างกลมขนาดลูกมะนาว (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25 มม) เปลือกนอกทรงกลมนี้เป็นตาขาวและตาดำ (sclera & cornea) ภายในมีอวัยวะต่างๆที่ช่วยในการมองเห็น รวมทั้งน้ำ aqueous และ vitreous ทำให้ดวงตาเป็นทรงกลมอยู่ได้ โดยมีความดันตาซึ่งวัดได้ในระดับหนึ่ง (ค่าเฉลี่ยเป็นประมาณไม่เกิน 20 มม ปรอท) ในความเป็นจริง ความดันตาที่ถือว่าปรกติของแต่ละคนไม่ได้คงที่ตลอดเวลาคล้ายความดันโลหิต มีสูง ต่ำไปบ้างได้เล็กน้อย และเป็นที่ทราบกันดีว่า ความดันตาที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่โรค

ต้อหิน ในคนทั่วไปค่าความดันตาที่วัดได้ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่เปลี่ยนไปได้บ้าง ซึ่งถือว่าปรกติ ได้แก่

  1. ความดันตาเปลี่ยนตามท่าที่วัด มักจะสูงในท่านอนราบเมื่อเทียบกับท่านั่ง อีกทั้งยังมีค่าแปรผันได้ ในแต่ละเวลาของวันที่เรียกกันว่า Diurnal variation เช่น ตอนเช้าได้ค่าหนึ่ง เย็นอาจวัดได้อีกค่าหนึ่ง ซึ่งค่าที่แตกต่างจากต่ำสุดไปสูงสุดในคนปกติ อยู่ในช่วง 3 – 6 มม ปรอท
  2. ความหนาของกระจกตา ด้วยเครื่องมือวัดความดันตาที่เป็นมาตรฐานใช้กันทุกวันนี้ (applanation tonometer) จะวัดความดันได้แม่นยำในกรณีที่กระจกตาหนา 520 ไมครอน หากความหนาเปลี่ยนไป 100 ไมครอน ความดันตาจะเปลี่ยนไป 7 มม ปรอท โดยประมาณ กล่าวคือ ถ้าหนามากขึ้น จะวัดได้ค่าสูงขึ้น และลดลงถ้ากระจกตาบางลง ในยุคปัจจุบันที่มีการทำ Lasix รักษาสายตาสั้น โดยการตัดกระจกตาออกไป ทำให้กระจกตาบางลง ทำให้วัดความดันตาได้ต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการกล่าวถึงคำว่า corneal hysteresis ซึ่งหมายถึงความยืดหยุ่นของกระจกตา ซึ่งแตกต่างกันในกระจกตาที่เป็นแผลเป็นกับกระจกตาที่บวมน้ำ แม้จะหนาเท่ากันแต่ความยืดหยุ่นต่างกัน อาจทำให้ค่าความดันตาที่วัดได้แตกต่างกันยิ่งขึ้น การวัดความยืดหยุ่น ทำได้โดยใช้เครื่อง ocular response anafizer ในทางปฏิบัติปัจจุบัน การวัดความยืดหยุ่นยังไม่ได้ทำกันคงต้องศึกษาถึงความจำเป็น ความสำคัญให้แน่นอนก่อน
  3. ความดันโลหิต ความดันตามักจะแปรไปทางเดียวกับความดันโลหิต ถ้าความดันโลหิตสูง ความดันตามักจะมีค่าสูงไปด้วย แต่แม้ลดความดันโลหิตด้วยยามักไม่มีผลต่อความดันตา
  4. การเพิ่มความดันบริเวณท้อง เช่น ในรายที่ใช้แรงเป่าเครื่องต่างๆ เป่าลูกโป่ง เป่าเครื่องดนตรี ผูกเนคไทแน่นเกินไป ตลอดจนการทำ Valsalva จะเพิ่มแรงดันในหลอดเลือด episclerol vein เป็นเหตุให้ความดันตาสูงขึ้นได้ จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีความดันตาสูงอยู่แล้วใช้หรือกระทำการดังกล่าว เพราะจะทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้
  5. อายุที่มากขึ้น มักมีความดันตาสูงขึ้นกว่าตอนอายุยังน้อย
  6. การออกกำลังกาย โดยทั่วไป ทำให้ความดันตาลดลงได้ถึง 3 มม ปรอท หรือมากกว่าเล็กน้อยอยู่นาน 1 – 2 ชม. จากภาวะขาดน้ำ (dehydration หรือภาวะ acidosis) แต่การออกกำลังท่าโยคะ ท่าศีรษะต่ำ มักทำให้ความดันตาขึ้นได้ชั่วคราว
  7. การดื่มน้ำจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้ 3 – 6 มม ปรอท การดื่มเหล้า เสพกัญชา ความดันตาลดลงได้ชั่วคราว แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าผู้ดื่มเหล้าประจำว่า มีผลต่อการดำเนินของโรคต้อหินหรือไม่
  8. ท่าทาง (posture) ของคนเรา หากอยู่ในท่าศีรษะต่ำหรือนอนคว่ำ นอนหงาย ทำให้ความดันตาสูงขึ้นได้