เรื่องน่ารู้จากหมอตา ตอนที่ 2 สารพันปัญหาเรื่องของความดันตา

เรื่องน่ารู้จากหมอตา
  1. สงสัยเหลือเกินเมื่อเดือนที่แล้วไปวัดความดันตา หมอแจ้งว่า ขวา 16 มม.ปรอท ซ้าย 17 มม.ปรอท ทำไม 2 ข้างไม่เท่ากัน

    คนปกติความดันตา 2 ข้างอาจไม่เท่ากันเสมอไป ดังเช่น บางคนตาขวาสั้น 100 ตาซ้ายอาจ 200 ก็ได้แต่ 2 ข้างมักจะแตกต่างกันไม่มาก ไม่ควรเกิน 8 มม.ปรอท ในกรณีผู้ป่วยโรคต้อหิน 2 ข้างอาจต่างกันมากกว่าได้

  2. ค่าปกติของความดันตาเป็นเท่าใด

    มีการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยของคนปกติเป็น 16 มม.ปรอท โดยมีค่า SD (standard deviation) เป็น 3 มม.ปรอท ค่า 2 SD จะเป็น 16+6 คือ 22 มม.ปรอท จึงใช้ตัวเลขที่มากกว่า 21 มม.ปรอท เป็นค่าผิดปกติใช้คัดกรองผู้ป่วยต้อหิน ถ้าใครมีความดันตามากกว่า 21 มม.ปรอท ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นต้อหินไว้ก่อน

  3. การวัดความดันตาโดยใช้ลมเป่า มีค่าแม่นยำแค่ไหน

    การวัดโดยใช้ลมที่เรียก pneumotonometry มักใช้ในกรณีที่ตรวจคนหมู่มาก ในการออกหน่วย หรือคนที่มีความจำเป็นที่หยอดยาชาไม่ได้ (การวัดด้วยเครื่องที่เป็นมาตรฐาน) (standard applanation tonometer ต้องหยอดยาชาก่อน เพราะเครื่องมือต้องสัมผัสตาดำ) ในกรณีที่มีแผลที่ตาดำ ตาหลังผ่าตัดใหม่ ค่าของความดันตาที่ได้พอเชื่อถือได้ แต่โอกาสคลาดเคลื่อนมีมากกว่า บ้างก็ว่าการวัดด้วยลมมักจะได้ค่าสูงกว่าจริงเล็กน้อย แต่เป็นค่าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะในการคัดกรองต้อหิน

  4. ใช้นิ้วมือทดสอบความดันตาได้ไหม

    ในกรณีความดันตา 2 ข้างต่างกันมาก หมออาจใช้นิ้วมือทดสอบเปรียบเทียบได้ แต่หาก 2 ข้างใกล้เคียงหรือต่างกันไม่มาก อาจจะแยกไม่ได้ เช่น ความดันตาขวาเป็น 50 มม.ปรอท ตาซ้าย 18 มม.ปรอท การใช้นิ้วมือทดสอบน่าจะแยกได้ ขอเปรียบเทียบเหมือนถุงส้ม 1 กก. กับอีกถุง 1.2 กก. อาจแยกไม่ได้ แต่ถ้าถุงหนึ่ง 1 กก. แต่อีกถุง 5 กก. น่าจะแยกได้

  5. เป็นต้อหินอยู่ ไปตรวจเวลาเลิกงาน 17.00 น. เสมอ หมอแนะนำว่าคราวหน้าลองมาตรวจตอนเช้าดูบ้าง เพราะเหตุใด

    ความดันตาคนเราในแต่ละช่วงของวันอาจแตกต่างกันได้ ในคนปกติต่างกันได้ถึง 2 – 6 มม.ปรอท ในผู้ป่วยต้อหินอาจแตกต่างกันได้มากกว่านี้ ไม่มีกฎตายตัวว่าตอนเช้าความดันตาต้องสูงกว่าตอนเย็น มีการศึกษาพบว่าคนปกติส่วนมากความดันตาจะสูงในตอนเช้าและต่ำในตอนเย็น แต่บางคนอาจแตกต่างออกไป มีผู้ป่วยบางรายมาตรวจเวลาเดิมพบว่าความดันตาควบคุมได้ดี แต่จอตาเสียไปเรื่อยๆ ปัจจัยอันหนึ่งที่ชวนให้สงสัย ก็คือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความดันตาสูงในช่วงเวลาที่ไม่ได้มาตรวจก็ได้ จึงสมควรวัดความดันตาเวลาอื่นด้วย

  6. เด็กควรจะวัดความดันตาบ้างหรือไม่

    ต้อหินเป็นโรคพบในผู้สูงอายุ จึงมักแนะนำให้วัดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้เพราเด็กมักไม่ให้ความร่วมมือในการวัด อาจจะดิ้นรน ขัดขืน ทำให้ได้ค่าที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนมีอันตรายต่อผิวตาดำได้ แต่ยกเว้นในเด็กที่มีภาวะที่สงสัยอาจมีต้อหินแต่กำเนิด (congenital glaucoma) หรือภาวะบางอย่างที่คาดว่า อาจมีความดันตาสูง เช่น มีเลือดออกภายในตาจากอุบัติเหตุ (traumatic hyphema) ซึ่งความดันตาเป็นตัวชี้ว่าควรรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด

  7. เครื่องวัดความดันตาอาจทำให้มีเชื้อโรคติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหรือไม่

    โรคที่ตรวจพบเชื้อในน้ำตา มีโอกาสเกิดปนเปื้อนเชื้อที่ผิวเครื่องวัดชนิดที่ต้องสัมผัสกับตาเวลาวัดได้ ที่สำคัญ คือ เชื้อไวรัสโรคเอดส์ ไวรัสโรคตับ ที่สำคัญคือ ไวรัสที่ทำให้เกิดตาแดงระบาด (epidemic keratoconjunctivitis) จึงควรระมัดระวัง ซึ่งโดยทั่วไป ควรทำความสะอาดเครื่องมือบริเวณที่ต้องสัมผัสตาผู้ป่วยทุกครั้ง

  8. ความดันตาสัมพันธ์กับความหนากระจกตาอย่างไร

    ด้วยเครื่องมือที่วัดความดันตาในปัจจุบัน พบว่าจะได้ค่าแม่นยำ ในกรณีที่กระจกตาหนา 520 ไมครอน (ประมาณ 537 – 554 ไมครอน) ถ้าผู้ใดมีความหนามากกว่านี้มักจะวัดค่าความดันได้สูงกว่าจริง และได้ค่าต่ำกว่าจริงถ้ากระจกตาบาง โดยมีตัวเลขคร่าวๆ ทุก 10 ไมครอน ที่หนากว่าปกติจะได้ค่าความดันที่สูงเกินจริงไป 0.5 มม.ปรอท

  9. ภาวะใดบ้างที่วัดค่าความดันตาได้น้อยกว่าจริง
    • กระจกตาบาง
    • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติมาแล้ว (ทั้ง PRK และ Lasix)
    • กระจกตาบวม
    • วัดในขณะที่มี contact lens อยู่บนตา
    • ตาที่ได้รับการผ่าตัด scleral buckling มาแล้ว