สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ตาแห้งหลังทำการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-18

ปัจจุบันการแก้ไขสายตาสั้นอย่างถาวรด้วยวิธี PRK (photorefractive keratotomy) และ Lasik c laser assisted in situ keratotomy) เป็นที่ยอมรับกันว่าได้ผลดี ผู้ป่วยยินดีกับผลของการผ่าตัดมากกว่า 95% นับตั้งแต่ FDA รับรองการทำ PRK ตั้งแต่ ค.ศ. 1995 และ LASIK ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา

ในสหรัฐอเมริกาคาดว่ามีการผ่าตัดชนิดนี้ประมาณ 800,000 รายต่อปี และเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยหลังทำ PRK และ Lasik มักมีปัญหาของตาแห้งและมีความผิดปกติของผิวตา (ocular surface) ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง แสบตา ปวดตา ตาพร่ามัว ตามมาจำนวนมาก โดย Yu และคณะพบว่ามีอาการถึง 95% ในวันแรกๆ หลังผ่าตัดลดเหลือ 85% หลังหนึ่งสัปดาห์ของการผ่าตัดและมากกว่า 50% ยังมีอาการต่อเป็นเดือนๆ ยังมีอีกหลายๆ รายงานถึงจำนวนผู้ป่วยตาแห้งหลังทำ ส่วนมากจะมีอาการทันทีและค่อยๆ ดีขึ้น ภายใน 2-12 เดือน แม้ว่ามีบ้างที่อาการอาจจะนานกว่านี้

ภาวะตาแห้ง แม้จะรู้จักกันมานาน มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง เป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะนี้มีปัจจัยหลายอย่าง เป็นภาวะค่อนข้างจะซับซ้อนอันเกิดจากน้ำตามี hyperosmolarity ซึ่งบางคนอาจใช้คำว่าน้ำตาเค็มเกินไป

ปัจจัยของการเกิดอาการตาแห้งหลังทำผ่าตัดแก้ไขสายตาที่คาดกัน ประกอบด้วย ภาวะที่มีก่อนการผ่าตัดได้แก่

1. มีภาวะตาแห้งอยู่ก่อน มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีภาวะตาแห้งอยู่เก่า มีโอกาสตาแห้งมากกว่าที่ไม่มีอยู่ ก่อนถึง 2 เท่า ดังนั้นก่อนทำผ่าตัด ควรให้การรักษาภาวะตาแห้งและโรคของผิวตาให้ดีก่อนเสมอ

2. ประวัติของการใช้ contact lens ผู้ที่ใช้ contact lens มาก่อนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการอักเสบเล็กๆน้อยๆของเยื่อบุตา ทำให้ผิวตาผิดปกติ ควรจะต้องรักษาโดยการหยุดใช้คอนแทคเลนส์รักษาสภาวะของน้ำตาและผิวตาให้ปกติก่อนทำผ่าตัด

3. ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุตาเป็นทุนเดิมอยู่หลังผ่าตัดสายตาสั้น มักเกิดภาวะตาแห้งตามมา

4. โรคของ collagen และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรค rheumatoid , SLE, โรค Sjogren’ s ซึ่งมักจะมีการทำลาย cell สร้างน้ำตา ตัวโรคเองก็นำไปสู่ภาวะตาแห้งแล้ว หากมารับการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นมีโอกาสเกิดตาแห้งได้มากขึ้นตามมา

ปัจจัยเสี่ยงขณะทำผ่าตัด (intraoperative risk factor) ประกอบด้วย

1. การทำ PRK หรือ Lasik มีการทำลายเส้นประสาทที่ 5 ที่มาเลี้ยงกระจกตา จึงทำให้การกระตุ้นสร้างน้ำตาเสียไป

2. Goblet cell ในเยื่อบุตาถูกทำลายจาก suction ring ที่ทำขณะผ่าตัด

3. การเกลี่ยของน้ำตาบริเวณผิวตาเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมจากการผ่าตัด ทำให้รูปร่างของกระจกตาเปลี่ยนไป

4. ผู้ป่วยกระพริบตาน้อยลง

5. การสร้างน้ำตาลดลงจากหลายปัจจัยรวมทั้งเหตุจากข้อ 1

6. ระดับของ inflammatory cytokine ลดลง

7. การตัด flap ในกระบวนการทำ Lasik ต้องมีการเปิดฝาเป็นหิ้งไว้ด้านใดด้านหนึ่ง โดยที่เส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระจกตามีมากในแนวนอน การตัด flap จากบนลงล่างจะมีการทำลายเส้นประสาททั้ง 2 ด้านของแนวนอน (บริเวณ 9 และ 3 นาฬิกา หากเปรียบเทียบกระจกเป็นหน้าปัดนาฬิกา) จึงหันมานิยมทำ flap ในแนวนอนจึงเหลือเส้นประสาททางแนวนอนด้านหัวตาไว้ดีกว่าเปิด flap จากล่างขึ้นบนซึ่งทำลายเส้นประสาทแนวนอนทั้งหัวตาและหางตา มีความคิดที่ว่าหากทำ Lasik ด้วย femtosecond laser ซึ่งเจาะเป็นรูไม่ต้องติดเป็น flap น่าจะมีการทำลายเส้นประสาทน้อยกว่า การใช้ femtosecond laser น่าจะมีอาการตาแห้งน้อยกว่า ซึ่งมีการศึกษาหลายอันที่สนับสนุน มีบ้างที่พบว่าไม่จริงเสมอไป นอกจากนั้นความหนาของ flap ที่ตัดก็มีคนอ้างว่ามีส่วนทำให้เกิดภาวะตาแห้งแตกต่างกัน

8. ขนาดของกระจกตาที่ตัดออก (ablative area) ก็มีคนให้ความเห็นว่าในกรณีสั้นมากต้องเฉือนกระจกตาออกมาก ทำลายเส้นประสาทมาก นำมาซึ่งภาวะตาแห้งได้มากกว่า

โดยสรุปภาวะตาแห้งหลังทำ PRK และ Lasik จะลดน้อยลง ถ้าเราตระหนักถึงสภาวะของตาก่อนทำให้การรักษาสภาวะนั้นๆ ให้ดีก่อนทำผ่าตัด ตลอดจนลดปัจจัยที่เกิดขณะผ่าตัดที่มีส่วนทำให้เกิด น่าจะทำให้ภาวะตาแห้งหลังทำ PRK และ Lasik ลดน้อยลง

  1. Thomas H. etal Dry eye disease after refractive surgery Int Ophthalmal cl. in 2016