เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ Leukocyte)

บทความที่เกี่ยวข้อง
เม็ดเลือดขาว

เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ Leukocyte) เรียกย่อว่า WBC หรือ wbc เป็นเซลล์ที่สร้างจากไขกระดูก และเป็นเซลล์ที่อยู่ในหลอดเลือดเป็นส่วนใหญ่ แต่สามารถพบได้ในระบบน้ำเหลือง และในเนื้อเยื่อต่างๆโดยเฉพาะเมื่อมีการอักเสบของเนื้อเยื่อนั้นๆ มีหน้าที่หลักในระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย

เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด แต่ละชนิดทำงานในด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่แตกต่างกัน เช่น

  • Neutrophil จะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโรค ซึ่งค่าเม็ดเลือดขาว Neutrophilรวมทั้งหมด จะเรียกว่า “Absolute neutrophil count (ย่อว่า ANC)” โดยค่าปกติคือ 2,500 - 6,000 /ไมโครลิตร และถ้าค่านี้ต่ำกว่า 1,000 /ไมโครลิตร จะเป็นตัวบอกว่า ร่างกายจะมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้สูง โดยเฉพาะเมื่อค่านี้ต่ำกว่า 500 ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงจนเป็นเหตุเสียชีวิตได้
  • Lymphocyte จะเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากสาเหตุต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก คือ Natural killer cell (NK cell, เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันฯที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด โดยเป็นภูมิคุ้มกันฯทั่วไปที่ไม่เฉพาะต่อสารแปลกปลอมชนิดใดๆ หน้าที่หลักคือ เป็นตัวฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะ เชื้อไวรัส), T – cell หรือ T-lymphocyte (เซลล์สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันฯที่เกิดขึ้นในภายหลังต่อเมื่อร่างกายได้รับตัวกระตุ้นต่างๆที่หลุดเข้ามาในร่างกาย), และ B-cell หรือ B Lymphocyte (คือเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตสารภูมิต้านทาน )
  • Basophil จะเกี่ยวข้องกับการปล่อยสาร Histamine ในการตอบสนองของร่างกายต่อกระบวนการอักเสบต่างๆ
  • Monocyte จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบติดเชื้อ และการจับกินสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น เชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเมื่อเซลล์มีการจับกินสิ่งแปลกปลอมต่างๆ จะเรียกเซลล์เหล่านี้ว่า Macrophage
  • Eosinophil จะเกี่ยวข้องกับ การติดเชื้อปรสิต และ/หรือภูมิแพ้ และ/หรือภูมิต้านตนเอง(โรคออโตอิมมูน)

ทั้งนี้ เม็ดเลือดขาวที่เคลื่อนย้ายออกจากกระแสเลือดเพื่อเข้าไปอยู่/ไปทำงานในเนื้อเยื่อต่างๆอย่างถาวรเพื่อการจับกินสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในเนื้อเยื่อเหล่านั้น รวมถึงจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับเนื้อเยื่อเหล่านั้นรวมถึงกับร่างกาย จะเรียกว่า Fixed leukocyte และมีชื่อเรียกได้ต่างๆ เช่น Mast cell, Histiocyte, Dendritic cell, Kupffer cell, หรือ Microglia

อนึ่ง เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีสารที่เป็นเม็ดเล็กๆ(Granules) อยู่ใน Cytoplasm(ส่วนของเซลล์ที่อยู่นอก Nucleus)ของเซลล์ จะเรียกว่า Granulocyte หรือ อีกชื่อคือ Polymorphonuclear cell หรือ Polymorphonuclear leukocyte (ย่อว่า PMN หรือ PML หรือ PMNL)จากการที่มันมีรูปลักษณะของ Nucleus (ส่วนของเซลล์ที่มักอยู่ตรงกลางเซลล์ มีลักษณะค่อนข้างกลม ติดสีน้ำเงินหรือสีม่วงเข็ม โดยเป็นส่วนที่บรรจุสารพันธุกรรม)ของเซลล์ ที่เป็นหลายกลีบ(Lobes)ทำให้เหมือนมีหลายNucleusใน1เซลล์ ซึ่งเม็ดเลือดขาวในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชนิด Neutrophil, Eosinophil, Basophil, Mast cell

ส่วนเม็ดเลือดขาวในเลือดที่มีลักษณะ Nucleus เป็นกลีบเดียวและมักมีลักษณะค่อนข้างกลม จะเรียกว่า Peripheral blood mononuclear cell (ย่อว่า PBMC) ซึ่งได้แก่ Lymphocyte, และ Monocyte

เม็ดเลือดขาวในเลือดจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน ถึง 13-20 วันขึ้นกับชนิดของเม็ดเลือดขาว ปริมาตรทั้งหมดของเม็ดเลือดขาวจะประมาณ 1%ของปริมาตรของเลือดทั้งหมด โดยเม็ดเลือดขาว มีขนาดแตกต่างกันขึ้นกับแต่ละชนิดของเม็ดเลือดขาว คือ ประมาณ 2-12 ไมโครเมตร (µm,Micrometer) ทั้งนี้ เราสามารถตรวจรูปร่างและปริมาณเม็ดเลือดขาวได้จากการตรวจเลือด ที่เรียกว่า การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือ ซีบีซี (CBC, Complete blood count) ซึ่งค่าปกติจะประมาณ 3,500-13,000 เซลล์ต่อเลือด 1 ไมโครลิตร (µL หรือ mcL, Microliter) โดยค่าปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ มักรายงานเป็นเปอร์เซ็นต์(%)ของปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมด เช่น ค่าปกติของ Neutrophil จะประมาณ 40-80%, Lymphocyte จะประมาณ 20-40%, Basophil จะประมาณ น้อยกว่า 1-2%, Monocyte จะประมาณ 2-10%, Eosinophil จะประมาณ 1-6%

บรรณานุกรม

  1. http://www.livestrong.com/article/277482-difference-between-red-white-blood-cells/[2017,Oct7]
  2. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003643.html [2017,Oct7]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/White_blood_cell[2017,Oct7]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Granulocyte[2017,Oct7]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Peripheral_blood_mononuclear_cell[2017,Oct7]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Lymphocyte[2017,Oct7]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Natural_killer_cell[2017,Oct7]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/T_cell [2017,Oct7]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/B_cell[2017,Oct7]
  10. https://www.cancer.org/treatment/understanding-your-diagnosis/tests/understanding-your-lab-test-results.html [2017,Oct7]
  11. http://emedicine.medscape.com/article/2085133-overview#showall[2017,Oct7]
  12. http://www.aapd.org/media/policies_guidelines/rs_labvalues.pdf [2017,Oct7]
Updated 2017,Oct7