เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโทรนิดาโซล (Methonidazole) จัดเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียโดย เฉพาะกับชนิดที่การเจริญเติบโตไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และเชื้อพวกสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) เป็นยาที่ถือกำเนิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) และมีการใช้ในวงการแพทย์มากกว่า 50 ปี

ยาเมโทรนิดาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมโทรนิดาโซล

ยาเมโทรนิดาโซล มีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาโรคที่มีสาเหตุ เช่น

  • เชื้อ Trichomonas ที่ก่อโรคโดยเฉพาะในอวัยวะเพศ เช่น โรคพยาธิช่องคลอด
  • การอักเสบและการติดเชื้อกลุ่มอะมีบาที่มีการติดเชื้อในตับ (อ่านเพิ่มเติมในบทความ โรคฝีตับ)
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม Anaerobic หลังจากการผ่าตัดช่องท้อง หรือผ่า ตัดอวัยวะในระบบสืบพันธุ์
  • รักษาลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Clostridium Difficile และเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิด Giardia Lamblia / โรคเจียอาร์ไดอาซิส(Giardiasis)
  • รักษาการอักเสบและการติดเชื้อในช่องปากและฟัน โดยใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิด Amoxicillin
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อในแผลผ่าตัดลำไส้ใหญ่ หรือการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ
  • เป็นส่วนผสมในยาทา เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังอันเนื่องมาจากเชื้อรา (Fungat ing Wounds) หรือในโรคผิวหนังที่เรียกว่า โรค Rosacea
  • มีการใช้เมโทรนิดาโซลในวงการสัตวแพทย์ เพื่อรักษาการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิด Giardia ในสุนัข และในแมว รวมไปถึงการติดเชื้อทางเดินลำไส้ในสัตว์ต่างๆอีกด้วย

ยาเมโทรนิดาโซลออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมโทรนิดาโซลออกฤทธิ์ โดยจะซึมเข้าผนังเซลล์ของแบคทีเรีย Anaerobic bacteria และผนังเซลล์ของสัตว์เซลล์เดียวโปรโตซัว จากนั้นยาจะเข้าไปรบกวนการสร้างและการสัง เคราะห์สารทางพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้

ยาเมโทรนิดาโซลมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโทรนิดาโซล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัม และ 400 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำแขวนตะกอนขนาด 200 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 500 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร
  • ยาทาขนาดความเข้มข้น 1 %

ยาเมโทรนิดาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาเมโทรนิดาโซล เช่น

  • สำหรับการติดเชื้อ Trichomonas Vaginalis ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น โรคพยาธิช่องคลอด ขนาดรับประทานสูงสุดคือ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน (สำหรับผู้ใหญ่)
  • สำหรับการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิดอะมีบาในลำไส้เล็ก (Intestinal Amoebiasis)
    • ผู้ใหญ่ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง -ในเด็กอายุ 7-10 ปี รับประทานสูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง
    • ในเด็กอายุ 3-7 ปี รับประทานสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 4 ครั้ง
    • ในเด็กอายุ 1-3 ปี รับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง
  • สำหรับการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง (ในผู้ใหญ่)

อนึ่ง:

  • การรับประทานยานี้ควรรับประทาน พร้อม หรือ หลังอาหาร เพื่อลดการระคายเคืองของกระเพาะและลำไส้

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งจ่ายยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมโทรนิดาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด รวมทั้งอาการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/ หายใจติดขัด /หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอะไรบ้าง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโทรนิดาโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดอาจผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาเมโทรนิดาโซลควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโทรนิดาโซล สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากลืมรับ ประทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาเมโทรนิดาโซลมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาเมโทรนิดาโซลนี้ อาจส่งผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • การรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น มีการหายใจผิดปกติ
  • การรับประทานร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด อาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย หรือภาวะเลือดหยุดไหลช้า ยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือดดังกล่าว เช่น ยา Warfarin
  • การรับประทานร่วมกับยาที่ใช้ป้องกันหรือรักษาอาการชัก (เช่น ในโรคลมชัก) อาจทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกาย หรือขบวนการทางเคมีที่ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาเมโทรนิดาโซล และส่งผลต่อการออกฤทธิ์ รวมไปถึงระดับยาในกระแสเลือดที่ลดลง ยาที่ใช้รักษาอาการชักดังกล่าว เช่น Phenobarb
  • การรับประทานร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ระดับยาดังกล่าวมีปริมาณในกระแสเลือด สูงมากขึ้น ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด เช่น ยา Lithium
    • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น Cyclosporin
    • ยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น 5 FU และ Busulfan เป็นต้น

ยาเมโทรนิดาโซลมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาเมโทรนิดาโซล สามารถมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆได้ เช่น

  • การรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น มีการหายใจผิดปกติ
  • การรับประทานร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด อาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย หรือภาวะเลือดหยุดไหลช้า ยาต้านการจับตัวของเกร็ดเลือดดังกล่าว เช่น ยา Warfarin
  • การรับประทานร่วมกับยาที่ใช้ป้องกันหรือรักษาอาการชัก (เช่น ในโรคลมชัก) อาจทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกาย หรือขบวนการทางเคมีที่ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาเมโทรนิดาโซล และส่งผลต่อการออกฤทธิ์ รวมไปถึงระดับยาในกระแสเลือดที่ลดลง ยาที่ใช้รักษาอาการชักดังกล่าว เช่น Phenobarb
  • การรับประทานร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ระดับยาดังกล่าวมีปริมาณในกระแสเลือดสูงมากขึ้น ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด เช่น ยา Lithium
    • ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น Cyclosporin
    • ยาเคมีบำบัดบางชนิด เช่น Fluorouracil และ Busulfan เป็นต้น

มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาเมโทรนิดาโซล?

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยาเมโทรนิดาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเมโทรนิดาโซล (เช่น ขึ้นผื่น หรือ มีปัญหาทางการหายใจ เช่น แน่นหน้าอก)
  • หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเมโทรนิดาโซลมากกว่า 10 วัน ควรต้องตรวจและควบคุมความผิดปกติของระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยา เช่น ตรวจซีบีซี
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบสมอง รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบประ สาทส่วนปลาย ระบบประสาทส่วนกลาง และ ผู้ที่มีโรคตับ
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร หรือต้องขับขี่ยวดยานพาหนะด้วย เพราะยาอาจทำให้มีอาการ ง่วงนอน หรือวิงเวียนศีรษะ
  • ระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถึงแม้ยาเมโทรนิดาโซล ไม่ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง แต่ยานี้มีผลต่อระบบเลือด ต่อตับ และต่อระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อทารกได้เช่นเดียวกัน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ
  • และควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด รวมทั้งเมื่อจะซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

ควรเก็บรักษายาเมโทรนิดาโซลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเมโทรนิดาโซลทุกรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เช่น

  • เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยานี้ตามภายใต้ข้อกำหนดของบริษัทยา (อ่านในฉลากยา/เอกสารกำกับยา)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด
  • ไม่เก็บยาในที่มีความชื้น เช่น ในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ

ยาเมโทรนิดาโซลมีชื่ออื่นๆอีกไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต ยาเมโทรนิดาโซล เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Flagyl/Flagyl400/Flagyl-S(ฟลาจิล/ฟลาจิล400/ฟลาจิล-เอส)sanofi-aventis
Kana-P (กานา-พี)PP Lab
Medazole Picco (เมดาโชล พิคโค)Picco Pharma
Metrazole (เมทราโซล)General Drugs House
Metrogyl (เมโทรจิล)J.B. Chemicals
Metrogyl Gel (เมโทรจิล เจล)Unique
Metrolex (เมโทรเลก)Siam Bheasach
Metronidazole Fresenius Kabi (เมโทรนิดาโซล ฟรีซีเนียส คาบี)Fresenius
KabiMetronidazole GPO (เมโทรนิดาโซล จีพีโอ)GPO
Robaz (โรบาส)Galderma

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Flagyl-Flagyl%20400-Flagyl-S/?q=metronidazole&type=brief [2019,Aug17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Metronidazole [2019,Aug17]