เมื่อลูก...โตก่อนวัย (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

เมื่อลูกโตก่อนวัย-5

      

      เด็กผู้หญิงอาจสับสนหรือกระอักกระอ่วนใจในสรีระร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น เต้านมโตและมีประจำเดือนก่อนเพื่อน และที่สำคัญคือ การโดนคนล้อเลียน มีโอกาสถูกแกล้งหรืออาจถูกประทุษร้ายทางเพศได้ มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย รวมทั้งมีปัญหาในการดูแลตัวเองเมื่อมีประจำเดือน

      นอกจากนี้เด็กผู้หญิงอาจเจ้าอารมณ์และหงุดหงิดง่าย ในขณะที่เด็กผู้ชายจะก้าวร้าวและมีแรงขับทางเพศ (Sex drive) ที่ไม่เหมาะสมกับอายุ

      การป้องกันอาจทำได้ด้วยการ

  • ดูแลให้เด็กพ้นจากการได้รับฮอร์โมนภายนอกทั้งหลาย
  • ส่งเสริมให้เด็กมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

      ในส่วนของการวินิจฉัยของแพทย์อาจทำได้ด้วยการ

  • ดูประวัติของเด็กและครอบครัว
  • ทำการตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน
  • การเอ็กซเรย์ที่ข้อมือและมือของเด็กเพื่อดูถึงอายุของกระดูกว่ามีการเจริญเติบโตที่เร็วไปหรือไม่
  • การตรวจสมองด้วยเอ็มอาร์ไอ ในกรณีของ Central precocious puberty เพื่อดูว่าสมองมีความผิดปกติที่เป็นสาเหตุให้มีภาวะเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนวัยหรือไม่
  • การตรวจไทรอยด์ (Thyroid testing) ว่ามีการทำงานผิดปกติหรือไม่ เช่น อ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย หนาวง่าย ท้องผูก

      สำหรับการรักษาภาวะเริ่มเจริญพันธุ์ก่อนวัยขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นที่จะให้เด็กโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสูงปกติ โดย

      การรักษาในกรณี Central precocious puberty สามารถรักษาด้วยยาที่เรียกว่า การรักษาแบบ Gn-RH analogue therapy โดยใช้ยาที่เรียกว่า LHRH analogs ซึ่งถือเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ช่วยขวางการผลิตฮอร์โมนเพศที่เป็นสาเหตุ เพื่อชะลอการเจริญเติบโตและความสูง

      โดยในเด็กผู้หญิงเต้านมอาจเล็กลง ส่วนในเด็กผู้ชายอัณฑะและองคชาติอาจเล็กลง เด็กจะได้รับยาทุก 4 หรือ 12 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับขนาดยา จนกว่าจะอายุเข้าวัยเจริญพันธุ์ตามปกติ

      ส่วนการรักษาอย่างอื่นจะเป็นการรักษาตามเหตุที่เป็น เพื่อหยุดการเจริญเติบก่อนวัย เช่น กรณีที่มีเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมน จะรักษาด้วยการผ่าตัด

      นอกจากนี้ พ่อแม่ควรดูแลลูกด้วยการอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของทุกคน เพียงแต่กรณีนี้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ พยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมเด็ก อย่าเน้นที่สรีระ แต่หากิจกรรมอื่นให้เด็กทำ เช่น กีฬา และให้ระวังเรื่องการถูกล้อเลียน

      และสังคม – การโตเร็วกว่าเพื่อนอาจทำกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก การเคารพตนเอง (Self-esteem) ของเด็ก เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าหดหู่หรือการเสพสารเสพติด

แหล่งข้อมูล:

  1. Precocious puberty.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/precocious-puberty/symptoms-causes/syc-20351811 [2018, Aug 8].
  2. Precocious puberty.https://kidshealth.org/en/parents/precocious.html [2018, Aug 8].
  3. Central Precocious Puberty (CPP).https://www.webmd.com/children/central-precocious-puberty#1 [2018, Aug 8].