เมื่อของเล่นมีพิษ ไม่ใช่มิตรของหนูแล้ว (ตอนที่ 2)

เมื่อของเล่นมีพิษ

สารตะกั่ว (Lead) เป็นสารโลหะหนักมีพิษ ที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เป็นสารพิษที่สามารถทำร้ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้เราอาจได้รับสารพิษตะกั่วจากหลายแหล่ง เช่น

  • สีทาบ้าน (รุ่นเก่า) – เพราะตะกั่วได้ถูกใช้เป็นส่วนผสมของสีทาบ้านเพื่อให้สีติดคงทน ซึ่งปัญหานี้มักเกิดกับสีทาบ้านที่ใช้ในสมัยก่อน (รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เริ่มห้ามการใช้สารตะกั่วในสีทาบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา) เช่นเดียวกันสีที่ใช้กับของเล่นและเฟอร์นิเจอร์เก่าก็อาจจะประสบกับปัญหานี้ด้วย เพราะสีชนิดนี้เมื่อหลุดร่อนเป็นแผ่น จะกลายเป็นฝุ่น หรือกระจายลงดิน
  • พลาสติก - การใช้ตะกั่วในพลาสติกเป็นไปเพื่อทำให้พลาสติกอ่อนตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเมื่อนำไปผลิตของเล่นเด็ก และพลาสติกกระทบกับแดด อากาศ ผงซักฟอก อาจทำให้เกิดการแตกตัวทางเคมีระหว่างพลาสติกและตะกั่ว กลายเป็นฝุ่น
  • ฝุ่น - เป็นทางที่คนส่วนใหญ่จะได้รับสารพิษตะกั่ว โดยฝุ่นตะกั่วมาจากสีทาภายในที่หลุดร่อน ซึ่งเด็กๆ มักจะได้รับสารพิษตะกั่วเมื่อไปจับของที่เปื้อนฝุ่นตะกั่วแล้วเอามือเข้าปาก ซึ่งฝุ่นตะกั่วเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
  • ดิน - สารตะกั่วที่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ หรือโรงงานอื่นที่ใช้ตะกั่วในกระบวนการผลิต โดยสารตะกั่วนี้จะลอยไปในอากาศและผสมกับดินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
  • น้ำดื่ม - สารตะกั่วที่พบในน้ำดื่มมักเป็นผลมาจากการสึกกร่อนของวัสดุที่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เช่น ท่อทองแดง สุขภัณฑ์ชุบทองเหลืองและโครเมี่ยม ท่อประปา
  • อากาศ - มาจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และงานอดิเรกอย่างการทำกระจกสี (Stained glass) ที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อม เป็นต้น
  • ของเล่นเด็ก และเครื่องประดับ - มักพบสารตะกั่วในของเล่นราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานและเครื่องประดับ
  • เซรามิก กระเบื้อง ภาชนะที่ทำด้วยส่วนผสมของตะกั่วหรือดีบุก (Pewter) อาหารกระป๋องที่ใช้ตะกั่วเชื่อมกระป๋อง – อาจทำให้ตะกั่วซึมเข้าสู่อาหารหรือของเหลวเมื่อบรรจุในภาชนะดังกล่าว

สารพิษตะกั่วเป็นสี่งมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่มีกลิ่น เด็กๆ อาจได้รับสารพิษตะกั่วจากการสัมผัสสิ่งของแล้วเอาเข้าปาก ซึ่งเป็นสิ่งปกติของพัฒนาการตามวัยของเด็กที่มักจะเอาของเล่น นิ้วมือ และวัตถุอื่นๆ เข้าปาก

เราจะรู้ว่าของเล่นนั้นมีสารพิษตะกั่วก็ต่อเมื่อมีการนำไปทดสอบในห้องแล๊ป และทางเดียวที่จะรู้ได้ว่าเด็กได้รับสารพิษตะกั่วหรือไม่ก็คือ การตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่ว (Blood lead test)

ทั้งนี้ปริมาณสารตะกั่วที่เท่ากับหรือสูงกว่า 10 µg/dL (ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร) ถือว่าได้รับสารพิษตะกั่ว (ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาจะให้เด็กที่อายุ 1 ปี ทำการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่ว และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 2 ปี)

อย่างไรก็ดี จากบทศึกษาล่าสุดพบว่า การได้รับสารพิษตะกั่วแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นอันตรายได้ โดยมีส่วนสัมพันธ์กับระดับไอคิวที่ต่ำ ทำลายพัฒนาการของร่างกาย ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้บกพร่องทางการได้ยิน และมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก

แหล่งข้อมูล

1. Lead Poisoning Prevention. https://www.health.ny.gov/environmental/lead/ [2014, October 14].
2. Sources of Lead. https://www.health.ny.gov/environmental/lead/sources.htm [2014, October 14].
3. Toys. http://www.cdc.gov/nceh/lead/tips/toys.htm [2014, October 14].
4. Lead Poisoning. http://www.med.umich.edu/yourchild/topics/leadpois.htm [2014, October 14].