เมื่อของเล่นมีพิษ ไม่ใช่มิตรของหนูแล้ว (ตอนที่ 1)

เมื่อของเล่นมีพิษ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้จัดงาน "รวมพลังปกป้องเด็กไทย ห่างไกลพิษสารตะกั่ว" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กไทยมีโอกาสเติบโตอย่างมีคุณภาพและเต็มศักยภาพ ประชาชนทั่วไปในชุมชนมีความรู้ ในการดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากการสัมผัสสารตะกั่ว รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการทำงานร่วมกัน เพื่อปกป้องเด็กและครอบครัวห่างไกลพิษสารตะกั่ว

ในงานนี้ รศ.พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้กล่าวว่า โครงการปกป้องเด็กและครอบครัว ห่างไกลพิษสารตะกั่ว เป็นหนึ่งในโครงการที่ดำเนินการภายใต้โครงการหลักของกระทรวงสาธารณสุข คือ "โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด" ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

เป็นงานเชิงรุกด้านสาธารณสุขที่ขนาดปัญหาไม่ใหญ่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพิษสารตะกั่วนั้นรุนแรง เพราะเมื่อเด็กได้รับสารพิษจากตะกั่วเข้าไปแล้วจะส่งผลเสียชัดเจนต่อร่างกายและระดับสติปัญญา โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาจะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ ทำให้ไอคิวต่ำ

และถ้าได้รับในปริมาณสูงจะมีผลต่อสมอง ตับ และไต ทำให้มีอาการซีด ชัก และเสียชีวิต นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสสารตะกั่วมีความเสี่ยงที่จะแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือลูกมีน้ำหนักตัวน้อย

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอให้มีการตรวจคัดกรองหาระดับตะกั่วในเลือดในเด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี เฉพาะกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว เพื่อให้เด็กไทยมีต้นทุนสมองและต้นทุนสุขภาพที่ดีและเป็นต้นทุนอันมีค่ายิ่งของประเทศต่อไป

สำหรับข้อแนะนำในการดูแลเด็กให้ห่างไกลพิษสารตะกั่วเบื้องต้น คือ ควรเลือกใช้สีน้ำทาภายในตัวบ้านแทนการใช้สีน้ำมัน และสีที่ใช้ควรมีปริมาณตะกั่วไม่เกิน 90-100 ppm นอกจากนี้ต้องดูแลเด็กไม่ให้เล่นเครื่องเล่น ของเล่นที่สีหลุดล่อน

ควรล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหารและก่อนรับประทานอาหาร ตลอดจนดูแลเด็กให้ได้รับสารอาหารครบทุกหมวดหมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว ผลไม้ นมสด ปลาเล็กปลาน้อย เนื้อแดง เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารตะกั่วได้น้อยลง

ส่วน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน "รวมพลังปกป้องเด็กไทย ห่างไกลพิษสารตะกั่ว" ว่า องค์การอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมโรค แห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา กำหนดว่าระดับสารตะกั่วในเลือดที่ยอมรับได้สำหรับเด็ก ต้องมีค่าน้อยกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร

ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าค่าระดับสารตะกั่วในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบจากพิษของสารตะกั่ว เพราะเด็กเล็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ที่ดูดซึมเพียงแค่ร้อยละ 10-15

แหล่งข้อมูล

1. ห่วงเด็กไทย! เสี่ยง 'พิษสารตะกั่ว' แนะเลี่ยงเครื่องเล่นสีหลุดล่อน http://www.thairath.co.th/content/452897 [2014, October 13].