เมทฟอร์มิน (Metformin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) จัดเป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิด2 เป็นลักษณะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน หรือร่างกายไม่สามารถนำฮอร์โมนอินซูลินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่จึงทำให้การเผาผลาญน้ำตาลของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง

ยาเมทฟอร์มิน ถูกค้นพบและสังเคราะห์มานานกว่า 90 ปี วงการแพทย์ยอมรับในประสิทธิภาพของการรักษาเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาป้องกันในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 ได้อีกด้วย

ยาเมทฟอร์มินมีสรรพคุณอย่างไร?

เมทฟอร์มิน

ยาเมทฟอร์มินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิด 2
  • ช่วยทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลง
  • นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาทางเลือกในการรักษากลุ่มอาการรังไข่ทำงานผิดปกติ (Polycystic Ovarian Syndrome: กลุ่มอาการพีซีโอเอส) ซึ่งมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติขาดๆหายๆ มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักของร่างกายมากหรือในคนโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ยาเมทฟอร์มินออกฤทธิ์อย่างไร?

ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด แต่พบว่าการใช้ยาเมทฟอร์มินช่วยทำให้การดูดซึม น้ำตาลจากระบบทางเดินอาหารลดลง ลดการสร้างน้ำตาลกลูโคสของร่างกาย และช่วยให้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำงานโดยเร่งการเผาผลาญน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้น

ยาเมทฟอร์มินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบจัดจำหน่ายของยาเมทฟอร์มิน:

  • ชนิดเม็ด ขนาด 500 และ 850 มิลลิกรัม
  • ชนิดเม็ดร่วมกับยาอื่น ขนาด 1,000 มิลลิกรัม

ยาเมทฟอร์มินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมทฟอร์มินจัดเป็น ยาอันตราย และมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) มากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง

ขนาดของยาที่รับประทานใน ผู้ใหญ่ เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) คนชรา มีขนาดที่ต่างกัน และต้องค่อยๆปรับปริมาณขนาดยาที่รับประทานอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยานี้จากแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น

ก. สำหรับการรักษาโรคเบาหวานชนิด 2 : ขนาดสูงสุดที่รับประทานในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 2.25 กรัม/วัน, ขนาดสูงสุดที่รับประทานในเด็กไม่ควรเกิน 2 กรัม/วัน

ข. สำหรับการรักษากลุ่มอาการรังไข่ทำงานผิดปกติ/กลุ่มอาการพีซีโอเอส (Polycystic Ovarian Syndrome) ขนาดสูงสุดที่รับประทานในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 1.5 - 1.7 กรัม/วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมทฟอร์มิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใชเยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทฟอร์มินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดมักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้ หรือก่อผลข้างเคียงกับมารดาและกระทบกับทารกในที่สุด

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมทฟอร์มิน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาเมทฟอร์มินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) จากยาเมทฟอร์มิน เช่น

  • ใจสั่น
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • น้ำหนักตัวลด
  • หนาวสั่น
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผื่นคัน
  • ภาวะขาดวิตามินบี12
  • ปวดหัว
  • ท้องอืด
  • อาหารไม่ย่อย

ยาเมทฟอร์มินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาเมทฟอร์มินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ เช่น

  • การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับ สุราจะก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด(Lactic Acidosis) และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
  • การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับ ยาโรคหัวใจบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน กลุ่มยารักษาโรคหัวใจดังกล่าว เช่นยา อะซีบูโทลอล (Acebutolol)
  • การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับยา ไทรอยด์ฮอร์โมน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หากต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องได้รับการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด และแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานของไทรอยด์ฮอร์โมน
  • การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับ ยาลดกรดบางชนิด อาจจะยับยั้งการขับถ่ายยาเมทฟอร์มิน ออกจากร่างกายโดยทางไต ทำให้ระดับยาเมทฟอร์มินในเลือดสูงขึ้น และส่งผลต่อการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดตามมา ตัวอย่างยาลดกรด เช่นยา ไซเมทิดีน (Cimetidine)

มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมทฟอร์มินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาเมทฟอร์มิน เช่น

  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับ-ไตผิดปกติ เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเกิดการติดเชื้อในร่างกายตามมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยด้วยพิษสุราทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน, ผู้ป่วยโรคไทรอยด์, ผู้ป่วยต้องได้รับการปรับขนาดยานี้จากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และภาวะให้นมบุตร ถึงแม้ยาเมทฟอร์มินจะจัดเป็นยารักษาโรคในหมวด Category B ก็ตาม (กล่าวคือ ยาเมทฟอร์มินมีการศึกษากับตัวอ่อน ที่อยู่ในครรภ์ของสัตว์ทดลอง พบว่าไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติ หรือเกิดความเสี่ยงกับตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีการศึกษาการใช้ยากับมนุษย์ และยังไม่มีการยืนยันรับรองความผิด ปกติของทารกในครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก: ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์)
  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาเมทฟอร์มิน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาเมทฟอร์มินอย่างไร?

ควรเก็บยาเมทฟอร์มิน: เช่น

  • เก็บยาให้พ้นแสงแดด
  • เลี่ยงการเก็บในที่ชื้นหรือในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ ควรทิ้งทำลาย
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาเมทฟอร์มินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมทฟอร์มิน มียาชื่อทางการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Actosmet (แอคโทเมท)Takeda
Amaryl M (อะมาริล เอ็ม)sanofi-aventis
Amaryl M SR (อะมาริล เอ็ม เอสอาร์)sanofi-aventis
Ammiformin (แอมมิฟอร์มิน)MacroPhar
Buformin (บูฟอร์มิน)Burapha
Deglucos (ดีกลูโคส)Suphong Bhaesaj
Deson (ดีซัน)Unison
Diamet (ไดอะเมท)Weifa
Diaslim (ไดอะสลิม)Community Pharm PCL
Formin (ฟอร์มิน)Pharmaland
Galvus Met (แกลวุส เมท)Novartis
Gluco (กลูโค)Masa Lab
Glucoles (กลูโคเลส)T Man Pharma
Glucolyte (กลูโคไลท์)T. O. Chemicals
Glucophage (กลูโคฟาก์)Merck
Glucophage XR (กลูโคฟาก์ เอ็กอาร์)Merck
Glugon (กลูกอน)K.B. Pharma
Glustress (กลูเทรส)Charoon Bhesaj
Maformin (มาฟอร์มิน)Pharmadica
ME-F (มี - เอฟ)Thai Nakorn Patana
Metfor (เมทฟอร์)Millimed
Metforex (เมทฟอร์เรค)The United Drug (1996)
Metformin Utopian (เมทฟอร์มิน ยูโทเปียน)Utopian
Poli-Formin (โพลี่-ฟอร์มิน)Polipharm

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Anti-diabetic_medication [2020,July25]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Metformin#Prediabetes [2020,July25]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/[2020,July25]