เพียงเหล้า เข้าปาก (ตอนที่ 3 และตอนสุดท้าย)

อนุสนธิข่าวต่อเนื่องจากเมื่อวาน การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธ์ในประมาณเล็กน้อยในแต่ละวัน อาจชะลอหรือป้องกันการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน (Diabetes) โดยลดระดับน้ำตาลในเลือด ในบรรดาสตรีชรา อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยเรื่องดังกล่าวเตือนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีสารเสพติด รวมทั้งน้ำตาล ซึ่งจะหักล้างผลกระทบในเชิงบวก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อาทิ ไวน์และเหล้าที่มีส่วนผสมเพิ่มน้ำตาล

ยังมีการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้มิได้ดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต อาจมีความเสี่ยงเป็น 2.36 เท่า ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากกว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอในปริมาณปานกลาง แต่ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด มักมีความเสี่ยงเป็น 2.88 เท่า ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มากกว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปานกลาง

ในอดีตมักเป็นที่เข้าใจว่า โรคอ้วน (Obesity) เกิดจากความอ่อนแอทางจิตใจ แต่ในปัจจุบัน เข้าใจว่าเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมด้วย การรับประทานอาหารมากเกินไปกับการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป มีปัจจัยร่วมกันในทางสรีระ จนสามารถแก้ไขร่วมกันได้ อาทิ บางตำรับยาอาจช่วยผู้ป่วยทั้งสองโรคได้ในเวลาเดียวกัน

สมองบางส่วนที่ส่งสัญญาณไปยังโปรตีนทำหน้าที่สื่อกลางระหว่างการกินมากเกินไปกับน้ำหนักเกิน ก็เป็นสื่อกลางของการดื่มแอลกอฮอล์ที่ควบคุมไม่ได้ [กล่าวคือ มากเกินไป] อาทิ กลุ่มโปรตีนส่งสัญญาณที่ชื่อ Melanocortins เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารและดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

[เป็นที่เข้าใจกันว่า] แอลกอลฮอล์อาจทำให้น้ำหนักเกิน แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณปานกลาง อาจไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ แอลกอฮอล์เป็นแหล่งสำคัญของแคลอรีเหลว (Liquid calorie) แต่อาจไม่สามารถกระตุ้นกลไกทางสรีระที่จะผลิตความรู้สึกเต็มที่ในเวลาอันสั้น แต่ในระยะยาว ผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจชดเชยพลังงานที่ได้มาจากเอธานอล (Ethanol) โดยการกินน้อยลง

อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ [พอประมาณ] โดยผู้สูงอายุ อาจให้ผลในเรื่องอายุยืนยาวนานขึ้น ซึ่งมักเป็นผลจากโรคหลอดเลือดหัวใจที่ลดลง โดยที่การตายจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นที่ทราบกันว่าเพิ่มอัตราความเสี่ยงเพียง 5% ของการตายทั้งหมด แต่ตัวเลขนี้ [อัตราการตาย] ก็เพิ่มขึ้นในบรรดาผู้ดื่มมากกว่าวันละ 2 หน่วยมาตรฐาน (ปริมาณเท่ากับ 1 แก้วเต็มของไวน์)

รายงานจากศูนย์การควบคุมโรค (Centers for Disease Control) สหรัฐอเมริกา ประมาณการว่า การดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณปานกลางถึงมาก นำไปสู่การตายของ 75,754 คนภายในประเทศ ในปี พ.ศ. 2544 ในขณะที่ในประเทศอังกฤษ การดื่มแอลกอฮอล์จัด เป็นสาเหตุการตายปีละ 33,000 คน

การศึกษาวิจัยในประเทศสวีเดนพบว่า 29% ถึง 44% ของการตายที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ (กล่าวคือมิไดมีสาเหตุจากการเจ็บป่วย) ล้วนเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ สาเหตุการตาย [ในภาพรวม] ได้แก่ ฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การหกล้ม อุบัติเหตุจากจราจร ภาวะขาดอากาศ (Asphyxia) และการมึนเมา (Intoxication)

การศึกษาวิจัยระดับโลก พบว่า 3.6% ของกรณีโรคมะเร็งทั่วโลก เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณ 3.5% ของการตายด้วยโรคมะเร็งทั่วโลก การศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุประมาณ 6% ของการตายด้วยโรคมะเร็ง (หรือปีละ 9,000 คน) ภายในประเทศ การศึกษาวิจัยในจีน พบว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุประมาณ 4.40% ของการตายด้วยโรคมะเร็ง และ เป็น 3.63% ของการเกิดโรคมะเร็งทั้งหมด

แหล่งข้อมูล:

  1. Alcohol beverage. http://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholic_beverage [2011, December 28].