“เบเซ็ท” โรคหายาก (ตอนที่ 1)

เบเซ็ท-1

ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง สำหรับการสู้ชีวิตของหนุ่มชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ หรือชาวกระเหรี่ยง วัย 40 ปี ผู้พิการตาบอดสนิททั้งสองข้าง ที่ยึดมั่นทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวง ร.๙ และต่อสู้แบบล้มลุกคลุกคลาน ปลุกปั้นโรงงานผลิตเนยถั่ว น้ำมัน-ผลิตภัณฑ์จากถั่ว-งา ส่งขายซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้ในที่สุด

หนุ่มชาวเขาเถ้าแก่ใหญ่ เปิดเผยว่า ตนเริ่มป่วยด้วยโรคเบเซ็ท (Behcet's) คือ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อปี พ.ศ.2541 กระทั่งปี พ.ศ.2544 ตาทั้งสองข้างก็บอดสนิท ขณะกำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีปี 3 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

หลังจากนั้นก็ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยมาอยู่บ้านเพราะทำใจไม่ได้ เก็บตัวอยู่แต่ในห้องนานกว่า 2 ปี ก่อนจะเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาฟื้นฟูคนพิการ จนสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีจนจบในวิชาชีพครุศาสตร์บัณฑิต แต่เพราะสภาพร่างกายไม่พร้อมจึงไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงาน ก็กลับมาอยู่บ้านอีก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีพ่อเป็นมิชชันนารีสอนศาสนา จึงมีโอกาสพบกับชาวต่างชาติที่นิยมกินขนมปังเนยที่เดินทางมาบ่อยครั้ง ประกอบกับพยายามศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง ร.๙” พยายามคิดค้นพัฒนาสูตรการผลิตเนย ทำแบบล้มลุกคลุกคลาน จนออกแบบสร้างเครื่องจักรตั้งโรงงานเอง พัฒนาต่อยอดจนได้ อย.และมาตรฐานรับรองอย่างอื่นหลายอย่าง ขณะเดียวกันก็นำรายได้ส่วนหนึ่งคืนสังคมผ่านมูลนิธิการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิต ช่วยเด็กยากไร้ทั้งชาย-หญิง ถึง 35 คนด้วย

โรคเบเซ็ท (Behcet's / Behcet's syndrome / Behçet's disease) เป็นโรคที่พบยาก เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย โรคนี้อาจทำให้มีอาการมากมายหลายอย่างที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันในระยะแรก เช่น อาการเจ็บปาก ตาอักเสบ ผิวหนังเป็นผื่นและแผล เจ็บอวัยวะเพศ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาจเป็นและหาย แล้วกลับมาเป็นอีก โดยอาการจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็น

โรคเบเซ็ทไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคเบเซ็ท อาจเป็นไปได้ว่าโรคเบเซ็ทเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disorder) อย่างหนึ่ง ที่ดูเหมือนพันธุกรรมและปัจจัยแวดล้อมจะมีส่วนด้วย เพราะมียีน (Genes) หลายตัวที่ถูกพบว่ามีความเกี่ยวพันกับโรคนี้ ในขณะที่นักวิจัยบางคนเชื่อว่าเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียอาจจะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ในคนที่มียีนซึ่งไวต่อโรคนี้

โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบเซ็ท ได้แก่

• อายุ – มักเกิดในผู้ชายและผู้หญิงที่มีช่วงอายุ 20 และ 30 ปี

• สถานที่อยู่อาศัย – มักเกิดในประเทศตะวันออกกลาง (Middle East) และตะวันออกไกล (Far East) ซึ่งรวมถึงประเทศตุรกี อิหร่าน ญี่ปุ่น และจีน

• เพศ – เกิดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่ในเพศชายมักจะรุนแรงกว่า

• ยีน – มียีนบางตัว เช่น HLA–B51 ที่มีความเสี่ยงในการพัฒนาไปเป็นโรคเบเซ็ท

แหล่งข้อมูล:

  1. สุดยอด..หนุ่มกะเหรี่ยงสบเปิง ตาบอด-ไม่ท้อ ยึดทฤษฎี ร.๙ ตั้ง รง.เนยถั่วขายเดือนเป็นล้าน. https://mgronline.com/local/detail/9600000097716 [2017, December 29].
  2. Behcet's disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/behcets-disease/home/ovc-20178984 [2017, December 29].
  3. Behcet’s Disease. https://www.hopkinsvasculitis.org/types-vasculitis/behcets-disease/ [2017, December 29].
  4. Behçet's Syndrome. http://www.medicinenet.com/behcets_syndrome/article.htm [2017, December 29].