เบนโซไดอะซีปีน หลับสบาย คลายกังวล (ตอนที่ 1)

เบนโซไดอะซีปีน-หลับสบาย-คลายกังวล-1

หลังจากนักร้องดังแห่งวงบิ๊กแบงของเกาหลี วัย 29 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนในข้อเสพกัญชาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เเละเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน นักร้องดังถูกหามตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากกินยาในกลุ่ม "Benzodiazepines" ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการคลายกังวล ทำให้เขาหมดสติ

เเพทย์ได้ระบุถึงอาการในเบื้องต้นของนักร้องดังว่า ผู้ป่วยอยู่ในสถานะเกือบหมดสติ รูม่านตาหด การสะท้อนของกระจกตาลดลง เเละจะตอบสนองเมื่อได้รับการกระตุ้นอย่างรุนเเรงเท่านั้น การหายใจล้มเหลวเนื่องจากออกซิเจนในเลือดมีระดับต่ำ ทีมเเพทย์เห็นว่าผู้ป่วยอยู่ในขั้นวิกฤติ จึงส่งตัวเขาไปที่ ICU

ต่อมาทีมเเพทย์ได้เปิดเผยถึงอาการล่าสุดขณะตรวจร่างกายว่า ผู้ป่วยสามารถลืมตาได้เมื่อได้รับการกระตุ้นอย่างเเรง เเต่ยังไม่สามารถโฟกัสสิ่งต่างๆ ได้ ยังคงต้องดูอาการอย่างใกล้ชิด

และทีมแพทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เวลาในการฟื้นตัวของผู้ป่วยมีปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับอายุ โดยเคสที่ผ่านมาผู้ป่วยที่มีอายุไม่มากใช้เวลาฟื้นตัวราวๆ 1 สัปดาห์ เเต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลังจากที่ฟื้นแล้วต้องดูเเลสุขภาพจิตของผู้ป่วยด้วย

เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Benzos (ภาษาสแลงเรียกว่า Downers, rowies, serries, moggies, vals, V, normies, tranks และ sleepers) เป็นกลุ่มยานอนหลับและยาคลายเครียดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive drugs) ที่นิยมใช้กันมากในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในหมู่ผู้สูงอายุ เป็นยาที่ใช้แล้วอาจติดได้ (Addiction)

ในสมองมนุษย์จะมีสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) หลายตัวที่ส่งข้อความระหว่างเซลล์สมอง ซึ่งมีทั้งข้อความที่ทำให้ประสาทสงบ (Tranquilizing) หรือเร้าประสาท (Excitatory) โดยเบนโซไดอะซีปีนจะประกอบด้วยสารเคมีที่ช่วยให้ร่างกายและสมองอยู่ในภาวะที่สงบลงได้

ทั้งนี้ เบนโซไดอะซีปีนจะส่งเสริมการทำงานของกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (Gamma-Aminobutyric acid = GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทยับยั้งหลักในระบบประสาทส่วนกลาง มีบทบาทในการควบคุมภาวะกระตุ้นของเซลล์ประสาทในระบบประสาท ทำให้สมองทำงานน้อยลง

โดยทั่วไป เบนโซไดอะซีปีนจะถูกนำมาใช้ในการรักษา

  • โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorder = GAD) โดยใช้ในระยะสั้นไม่เกิน 1 เดือน
  • โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ในลักษณะของการรักษาระยะสั้น เพราะการใช้บ่อยอาจทำให้ติดยาได้
  • อาการชัก (Seizures) และภาวะชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)
  • ภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol withdrawal)
  • อาการตื่นตระหนก (Panic attacks)
  • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome)
  • กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle spasms)
  • ยาสลบระหว่างการผ่าตัด

แหล่งข้อมูล:

  1. กังวล! "ท็อป" บิ๊กแบงหลังกินยาเกินขนาด "ลืมตาได้แต่ต้องกระตุ้นแรงๆ". http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1496900250 [2017, June 19].
  2. Benzodiazepines: Uses, Side Effects, and Risks. http://www.medicalnewstoday.com/articles/262809.php [2017, June 19].
  3. Benzodiazepines (Benzodiazepine Drug Class). http://www.nhs.uk/Conditions/legcrampsunknowncause/Pages/Introduction.aspx [2017, June 19].