เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker, ยาปิดกั้นการทำงานของเบต้า รีเซ็ปเตอร์/Beta receptor โดยมีชื่อเรียกอื่นได้แก่ Beta - adrenergic blocker, Beta - adrenergic blocking agents, Beta antagonists, Beta - adrenergic antagonists, Beta - adrenoreceptor antagonists, หรือ Beta adrenergic receptor antagonists) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับหรือหน่วยรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า เบต้า รีเซ็ปเตอร์ (Beta receptor: ตัวรับเบต้า) หน่วยรับดัง กล่าวถูกพบที่ กล้ามเนื้อหัวใจ, กล้ามเนื้อเรียบ (เช่น กล้ามเนื้อหลอดเลือด), หลอดลม, หลอดเลือดฝอย, ไต, และเนื้อเยื่อของเซลล์ประสาทชนิดประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system)

หากมีฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Epinephrine เข้ามาจับกับตัวรับ เบต้า ก็จะทำให้อวัยวะต่างๆที่มีตัวรับเบต้าแสดงอาการตามชนิดของสารสื่อประสาทที่เข้ามาทำปฏิกิริยา ทางการแพทย์พบว่าสารสื่อประสาทหลายชนิดในร่างกายที่มีผลต่ออาการโรค เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ, หลอดลมหดเกร็งตัว, หัวใจบีบตัวแรงหรือบีบตัวช้าลง

ในปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) เภสัชกรชาวสก๊อตได้ค้นพบสารเบต้า บล็อกเกอร์ และนำ มาใช้ในทางการแพทย์ครั้งแรกชื่อ Propranolol และ Pronethalol(สารนี้ไม่มีการใช้ทางการแพทย์ ด้วยสามารถเป็นสารก่อมะเร็ง) ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติของวงการยาด้วยการนำเบต้า บล็อกเกอร์มารักษาภาวะหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)

หากจำแนกยาเบต้า บล็อกเกอร์ออกเป็นกลุ่มๆตามอาการของโรค จะจำแนกได้ดังต่อไปนี้

ก. สำหรับการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia): กลุ่มยาที่ ใช้รักษา เช่น Esmolol, Sotalol, Landiolol

ข. สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Carvedilol, Metoprolol, Bisoprolol, Nebivolol

ค. สำหรับโรคต้อหิน (Glaucoma): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Betaxolol, Carteolol, Levobunolol, Metipranolol, Timolol

ง. สำหรับโรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Atenolol, Metoprolol, Propranolol

จ. สำหรับป้องกันไมเกรน (Migraine): กลุ่มยาที่ใช้รักษา เช่น Timolol, Propranolol

ฉ. สำหรับรักษาอาการสั่นของร่างกายและความดันโลหิตสูง (Hypertension): ยาที่ใช้รักษา เช่น Propranolol

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์พบว่า ยากลุ่มนี้ถูกดูดซึมได้จากทางเดินอา หาร หลังดูดซึมตัวยาจะจับกับพลาสมาโปรตีน และตับจะเปลี่ยนโครงสร้างเคมีของยา ร่างกายจะขับยากลุ่มนี้โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น Atenolol, Betaxolol, Carvedilol, Metoprolol, Propranolol, และ Timolol ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย จึงต้องเป็นไป ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เบต้าบล็อกเกอร์

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)
  • รักษาและบรรเทาอาการหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
  • รักษาโรคต้อหิน (Glaucoma)
  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)
  • ป้องกันโรคไมเกรน (Migraine)
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบต้า บล็อกเกอร์คือ ตัวยาจะเข้าไปปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta receptor) ซึ่งมี 3 ชนิด คือ เบต้าวัน (Beta1), เบต้าทู (Beta 2), และเบต้าทรี (Beta 3) ซึ่งตัวรับเหล่านี้อยู่ตามเนื้อเยื่อของ หัวใจ หลอดเลือด หลอดลม และส่งผลให้หัวใจลดการบีบตัวและลดอัตราการเต้นลง พร้อมกับยับยั้งการปลดปล่อยสารเรนิน (Renin, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย) จากไต ทำให้เพิ่มการขับเกลือโซเดียมและน้ำออกจากร่างกาย เป็นผลให้ลดความดันโลหิตได้ในที่สุด

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ดขนาด 6.25, 10, 12.5, 25, 40, 50, 100, และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาหยอดตาขนาด 0.5%

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์มีหลายรายการตามความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่ม โรคที่มีความแตกต่างกันออกไป อีกทั้งมีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงมากมาย การใช้ยากลุ่มนี้ที่ปลอดภัยจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบต้า บล็อกเกอร์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีภาวะหัวใจเต้นช้า
  • เจ็บหน้าอก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • มีอาการคล้ายหอบหืด
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มดลูกบีบรัดตัวมาก
  • อ่อนเพลีย
  • เป็นตะคริว
  • ฝันร้าย
  • ประสาทหลอน
  • วิงเวียน
  • ซึมเศร้า
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ไขมันในเลือดชนิดเฮชดีแอล (HDL) ลดต่ำลง ในขณะที่ไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL) เพิ่มสูงขึ้น
  • เหงื่อออกมาก
  • บวมตามผิวหนัง
  • และระคายเคืองตา

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังช็อกด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างรุนแรง (Severe sinus bradycardia)
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบต้า บล็อกเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยาแก้ปวด เช่น Aspirin หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น Ibuprofen อาจจะส่งผลทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยากันชัก เช่น Phenobarbital อาจลดประสิทธิภาพในการทำงานของเบต้า บล็อกเกอร์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การรับประทานยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Clonidine สามารถทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนถึงระดับที่อันตราย ควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาเบต้า บล็อกเกอร์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น

  • กลุ่มยาเม็ด เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยาหยอดตา เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
  • ควรเก็บยานี้ทุกรูปแบบ ดังนี้ เช่น
    • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเบต้า บล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Brevibloc (เบรวิบล็อก) Baxter Healthcare
Caraten (คาราเทน) Berlin Pharm
Dilatrend (ไดลาเทรน) Roche
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) T. O. Chemicals
Cardoxone R (คาร์ดอซอน อาร์) Remedica
Meloc (เมล็อก) T. Man Pharma
Melol (เมลอล) Pharmasant Lab
Metoblock (เมโทบล็อก) Silom Medical
Metoprolol 100 Stada/Metoprolol 200 Stada Retard (เมโทโพรลอล 100 สตาดา/เมโทโพรลอล 200 สตาดา รีทาร์ด) Stada
Metprolol (เมทโพรลอล) Pharmaland
Sefloc (เซฟล็อก) Unison
Bisloc (บิสล็อก) Unison
Concor (คอนคอร์) Merck
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) Sriprasit Pharma
Novacor (โนวาคอร์) Tri Medical
Nebilet (เนบิเลท) Menarini
Betoptic S (เบท็อปติก เอส) Alcon
Arteoptic (อาร์ติออพติก) Otsuka
Betagan (เบทาแกน) Allergan
Archimol (อาร์ชิมอล) T P Drug
Glauco Oph (กลายูโค ออฟ) Seng Thai
Opsartimol (ออพซาร์ไทมอล) Charoon Bhesaj
Timodrop (ไทโมดร็อพ) Biolab
Timolol Maleate Alcon (ทิโมลอล มาลีทเอท อัลคอน) Alcon
Timo-optal (ทิโม-ออฟตัล) Olan-Kemed
Timoptol (ทิมอพทอล) MSD
Timosil (ทิโมซิล) Silom Medical
Atcard (แอทการ์ด) Utopian
Atenol (อะทีนอล) T. O. Chemicals
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) Kopran
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) Vesco Pharma
Enolol (อีโนลอล) Charoon Bhesaj
Esnolol (เอสโนลอล) Emcure Pharma
Eutensin (ยูเทนซิน) Greater Pharma
Oraday (ออราเดย์) Biolab
Prenolol (พรีโนลอล) Berlin Pharm
Tenocard (ทีโนคาร์ด) IPCA
Tenolol (ทีโนลอล) Siam Bheasach
Tenormin (ทีนอร์มิน) AstraZeneca
Tenrol (เทนรอล) Unique
Tetalin (ทีตาลิน) Pharmasant Lab
Tolol (โทลอล) Suphong Bhaesaj
Velorin (วีโลริน) Remedica
Alperol (อัลพีรอล) Pharmasant Lab
Betalol (เบต้าลอล) Berlin Pharm
Betapress (เบต้าเพรส) Polipharm
C.V.S. (ซี.วี.เอส.) T. Man Pharma
Cardenol (คาร์ดีนอล) T.O. Chemicals
Chinnolol (ชินโนลอล) Chinta
Emforal (เอมโฟรอล) Remedica
Idelol 10 (ไอดีลอล 10) Medicine Products
Inderal (อินดีรอล) AstraZeneca
Normpress (นอร์มเพรส) Greater Pharma
Palon (พาลอล) Unison
Perlon (เพอร์ลอน) Asian Pharm
P-Parol (พี-พารอล) Osoth Interlab
Pralol (พราลอล) Pharmasant Lab
Prolol (โพรลอล) Atlantic Lab
Propanol (โพรพานอล) Utopian
Propranolol GPO (โพรพราโนลอล จีพีโอ) GPO
Syntonol (ซินโทนอล) Codal Synto

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2020,Feb15]
2 http://www.medscape.com/viewarticle/421426_3 [2020,Feb15]
3 http://cvpharmacology.com/cardioinhibitory/beta-blockers.htm [2020,Feb15]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=propranolol [2020,Feb15]
5 http://www.medicinenet.com/beta_blockers-oral/page3.htm#Storage [2020,Feb15]
6 http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682043.html#storage-conditions [2020,Feb15]
7 https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22713/ [2020,Feb15]