เทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้ง ตอน 3 การเลือกซื้ออาหารแห้ง

เทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้ง-3

      

เมนูอร่อย สไตล์สุขภาพ

      

เทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้ง

ตอน 3 การเลือกซื้ออาหารแห้ง

      

      ถั่วเมล็ดแห้ง ต้องเลือกถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืชต่าง ๆ ที่สะอาดไม่อับชื้น ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน เปลือกแห้งสนิท เมล็ดสมบูรณ์ เนื้อแน่น ไม่ลีบ ไม่ฝ่อไม่แตกหัก และที่สำคัญต้องไม่มีเชื้อรา หรือมีสีเข้มผิดปกติหรือมีสีดำ อาหารที่พบเชื้อราที่เรียกว่า “อะฟลาท๊อกซิน”

      กระเทียม เลือกกระเทียมไทยหัวเล็ก มีกลิ่นหอม รสจัด อร่อย กว่ากระเทียมหัวใหญ่ เลือกเปลือกบาง กลีบแน่น ไม่ขึ้นรา แห้งสนิท

      พริกแห้ง สีแดงเข้ม เสมอกันทั้งเม็ด ไม่ขึ้นรา ขั้วพริกติดกับเม็ดพริกแน่น

      กะปิ เนื้อเนียนละเอียด กลิ่นหอม แห้ง เนื้อกะปิออกสีม่วง อมน้ำตาล ไม่แฉะหรือมีขี้ละอองเกลือ เก็บใส่ขวดปิดฝาให้สนิท ฟองเต้าหู้ เลือกฟองเต้าหู้แผ่นที่ไม่มีเชื้อรา ออกสีเหลืองนวล แห้งสนิท

      เต้าหู้แข็ง เลือกเต้าหู้ที่เนื้อไม่เปื่อยยุ่ย ไม่เหม็นเปรี้ยวและเป็นเมือก

      หอมแดง หอมแดงหัวเล็กมีกลิ่นหอม หัวใหญ่รสชาติจะอ่อนกว่า เลือกเปลือกสีแดง ไม่ฝ่อ ไม่ขึ้นรา แห้งสนิท

      เครื่องเทศ เครื่องเทศส่วนใหญ่จะบดละเอียดบรรจุอยู่ในขวดหรือถุง เวลาซื้อจึงดูได้แต่ลักษณะภายนอก ดูที่ไม่ขึ้นรา ไม่เกาะตัวเป็นก้อน บอกวันผลิตและวันหมดอายุ กรณีเป็นเครื่องเทศประเภทเปลือก ดอก ก้าน เลือกที่อยู่ในสภาพดี ไม่หลุดแตกเป็นผง

      เห็ดหอม มีกลิ่นหอมเนื้อนุ่ม เลือกซื้อที่มีดอกหนา สีออกน้ำตาลอ่อน เพราะจะมีรสหวานและหอม

      ข้าวสาร ไม่มีเศษกรวด หิน ดิน หญ้า ไม่มีมอด แมลง เชื้อรา เม็ดข้าวสารเรียวตรง มีกลิ่นหอม มีท้องข้าวสีขาว

      อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท กระป๋องต้องอยู่ในสภาพที่ดีไม่โป่งนูน เนื่องจากแรงดันของก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหารภายในกระป๋องต้องไม่มีรอยบุบ ไม่มีรูรั่วซึมไม่เป็นสนิม ควรเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่ผลิตใหม่โดยดูจากตัวเลขวันเดือนปีที่ผลิต วันหมดอายุ ที่ภาชนะบรรจุด้วย และต้องพิจารณารายละเอียดของเลขสารบบอาหาร (ตัวเลขสิบสามหลักในเครื่องหมาย อย.)

      สารปรุงแต่งอาหาร เช่น น้ำปลาน้ำ ส้มสายชู ซอส เป็นต้น ต้องเลือกที่บรรจุในภาชนะที่ปกปิดมิดชิด สะอาด และที่ฉลากจะต้องระบุชื่ออาหารสถานที่ผลิตชัดเจน และมีเลขสารบบอาหาร รวมทั้งต้องดูวันเดือนปีที่ผลิต/หมดอายุ/ควรบริโภคก่อน ที่ภาชนะบรรจุด้วย

      น้ำดื่ม เครื่องดื่มและน้ำแข็ง น้ำดื่ม เครื่องดื่ม จะต้องสังเกตจากลักษณะ ทั่วไป คือลักษณะกลิ่น สี และรส ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ และต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิดสนิท น้ำดื่มบรรจุขวดต้องมีฉลากชัดเจนตามข้อกำหนดว่าด้วยเรื่องฉลากอาหาร ส่วนน้ำแข็งต้องใสไม่มีตะกอน บรรจุอยู่ในซองพลาสติกใสที่สะอาด ปิดผนึกเรียบร้อย

      นมและผลิตภัณฑ์จากนม สภาพของน้ำนมต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น หรือมีตะกอนเป็นก้อน ๆ มีกลิ่นรสปกติ ไม่เหม็นบูดสีไม่คล้ำ ผลิตภัณฑ์จากนมเช่น เนยแข็ง ต้องบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท สะอาด ไม่มีรอยบุบ ไม่มีรอยแตก หรือรั่วซึม และฉลากบนภาชนะจะต้องระบุประเภทของนมวันที่ผลิต หรือวันหมดอายุหรือข้อความที่เขียนว่าควรบริโภคก่อน เพื่อทราบระยะเวลาที่นำมาบริโภค

      เนื้อสัตว์แห้งชนิดต่าง ๆ ต้องเลือกที่สีหรือกลิ่นไม่ผิดจากธรรมชาติ เช่น กลิ่นหืนหรือสีเข้มมาก เช่น สีแดงจัดซึ่งอาจเนื่องมาจากการใช้สีย้อมเพื่อปกปิดความด้อยคุณภาพของอาหาร หรือใส่ดินประสิวมากเกินไป

แหล่งข้อมูล:

  1. พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม. อาหารไทย.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น; 2547.
  2. สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร สำหรับผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบกิจการด้านอาหาร.[อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: 2557 [ เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2561].http://foodsan.anamai.moph.go.th/download/D_Media/Handbook/คู่มือหลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร.pdf