เตือนภัย! โรคนิ้วล็อค...โรคฮิตคนทำงาน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

อนุสนธิจากข่าวเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับโรคนิ้วล็อก ซึ่งเป็นอาการของนิ้วมือที่ไม่สามารถงอหรือเหยียดได้อย่างปกติ อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว โดยเริ่มตั้งแต่เจ็บบริเวณฐานนิ้ว แล้วนิ้วมีความฝืดในการเคลื่อนไหว สะดุด หรือกระเด้งเข้าออกเวลางอหรือเหยียด ต่อมาเกิดอาการล็อก กล่าวคือ หากงอหรือกำนิ้วมือไว้ จะไม่สามารถเหยียดออกได้เอง

การรักษาโรคนิ้วล็อคนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น การรักษาสำหรับกรณีที่เป็นไม่หนัก ประกอบไปด้วย

  • การใส่เฝือก แพทย์อาจให้เราใส่เฝือก เพื่อดามให้นิ้วที่เป็นอยู่ในท่ายืดเป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เฝือกจะช่วยรองรับข้อต่อ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เราเผลองอนิ้วขณะหลับ ซึ่งจะทำให้เจ็บเมื่อขยับนิ้วในตอนเช้าอีกด้วย
  • การออกกำลังกายนิ้ว ซึ่งจะช่วยให้เรายังรักษาการเคลื่อนไหวของนิ้วไว้ได้
  • การหลีกเลี่ยงการกำของซ้ำๆและนานๆ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องกำ หยิบ ฉวยของอย่างซ้ำๆและต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์พกพาที่สั่นได้ ส่วนกรณีรุนแรงนั้น อาจต้องใช้การรักษาด้วย
  • ยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) เช่น Advil หรือ Motrin เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมและอักเสบของเยื่อหุ้มและเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบจากการหดตัว
  • การฉีดยาสเตรียรอยด์ จะช่วยลดการอักเสบของเยื่อหุ้มที่ฐานนิ้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉีดทันทีที่อาการเริ่มแสดง สามารถฉีดซ้ำได้ แม้ครั้งหลังๆ จะไม่ได้ผลดีเท่าครั้งแรกก็ตาม การฉีดยาแบบนี้อาจใช้ไม่ค่อยได้ผลในคนที่ป่วยเป็นโรคไขข้ออักเสบหรือเบาหวาน
  • การคลายอาการนิ้วล็อคโดยเจาะผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous trigger finger release) วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ยาชา เพราะแพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปช่วยคลายนิ้วล็อค มักใช้ได้ผลกับนิ้วชี้ กลาง และนาง และ
  • การผ่าตัด แม้จะเป็นวิธีที่ใช้น้อยกว่าวิธีอื่น แต่การผ่าตัดเพื่อคลายเอ็นกล้ามเนื้ออาจจำเป็นสำหรับอาการล็อคที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาวิธีอื่นๆ

นอกจากนี้ การรักษาด้วยตัวเอง เพื่อบรรเทาอาการนิ้วล็อคก็สามารถทำได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • การพักผ่อน นิ้วที่แข็งตึงของเราอาจผ่อนคลายลงบ้างหากเราพักมือเป็นเวลา 4 - 6 สัปดาห์ และเพื่อป้องกันการใช้นิ้วที่มีอาการบาดเจ็บมากเกินไป เราควรเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันบางประการ เพื่อลดการกำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ หรือ
  • แช่น้ำอุ่น การแช่มือข้างที่เป็นลงในน้ำอุ่น โดยเฉพาะช่วงเช้า อาจช่วยลดความสาหัสของอาการนิ้วติดขัดระหว่างวันได้ ถ้าได้ผลดี สามารถแช่ซ้ำได้หลายครั้งตลอดวัน

แหล่งข้อมูล:

  1. แพทย์เตือนกลุ่มเสี่ยงโรคนิ้วล๊อก "แม่บ้าน-นักกอล์ฟ-คนทำสวน-ช่าง" http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352351983&grpid=&catid=09&subcatid=0902[2012, November 20].
  2. [Trigger Finger] Symptoms. http://www.mayoclinic.com/health/trigger-finger/DS00155/DSECTION=symptoms [2012, November 20].
  3. [Trigger Finger] Treatments and drugs. http://www.mayoclinic.com/health/trigger-finger/DS00155/DSECTION=treatments-and-drugs [2012, November 20].
  4. [Trigger Finger] Lifestyle and home remedies. http://www.mayoclinic.com/health/trigger-finger/DS00155/DSECTION=lifestyle-and-home-remedies [2012, November 20].