เตตร้าไซคลีน (ตอนที่ 1)

เตตร้าไซคลีน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในงานแถลงข่าว “ยังพบมีการใช้เนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟูด” ว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟูด อาทิ ไก่ทอด นักเก็ต สเต็กหมู สเต็กไก่ สเต็กเนื้อ ในร้านจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟูดที่มีหลายสาขา 18 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะ 6 ชนิด พบเพียงแซนด์วิชไก่อบของร้านแห่งหนึ่งมียาปฏิชีวนะ “เตตร้าไซคลีน (Tetracyline)”

โดยพบเตตร้าไซคลีนที่ 13.73 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ไม่เกินค่ามาตรฐานสากลที่อนุญาตให้ใช้ที่ 200 ไมโครกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม แต่เป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการบวนการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้

  1. ผู้ประกอบการอาหารฟาสต์ฟูดรายใหญ่ หรือผู้เลี้ยงสัตว์รายใหญ่มีนโยบายและแผนการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดยาปฏิชีวนะ
  2. ให้นักวิชาการภายนอกเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทได้

ซึ่ง น.ส.สารี เชื่อว่าจะทำไห้ปัญหาเชื้อดื้อยาและการใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์ลดลง ประชาชนมีปัญหาสุขภาพลดลง แต่หากไม่ทำอะไรเลย มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีจะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 50 ล้านคนทั่วโลก

ด้าน รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธาน มพบ. กล่าวว่า ตามปกติการเลี้ยงสัตว์จะให้ยาปฏิชีวนะเมื่อป่วยเท่านั้น และใช้ในปริมาณที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้หมด ไม่ให้เหลือเชื้อโรคแม้แต่เซลล์เดียว เพราะเชื้อจะต่อสู้เพื่อให้ตัวเองรอด และสามารถแพร่จำนวนได้มหาศาลภายใน 15 นาที

แต่ปัญหาคือ ในหลายประเทศทั่วโลกและประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรค เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ย่นระยะเวลาในการเลี้ยงดูให้สั้นลง ซึ่งถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล ทำให้ยานั้นตกค้างในอวัยวะของสัตว์ เครื่องใน ผิวหนัง และเนื้อบางส่วน ซึ่งขึ้นกับกลุ่มของยาปฏิชีวนะ ในขณะที่ผู้บริโภคมักเข้าใจว่ายานั้นจะหายไปได้จากการชำแหละและกระบวนการปรุงอาหาร

รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ กล่าวต่อว่า ปัญหาคือ ประเทศไทยมีการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ จึงมีโอกาสตกค้าง และก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ทั้งนี้เมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้วสามารถทำให้เกิดการดื้อยาได้ภายใน 24 ชั่วโมง และมีข้อมูลว่าเชื้อดื้อยาจะมียีนที่สามารถดื้อต่อยาข้ามกลุ่มได้

ดังนั้น รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ จึงแนะนำว่า อย่าใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าใช้ต้องให้ครบโดส ที่สำคัญคือ ในภาคการเลี้ยงสัตว์นั้นภาครัฐก็ต้องกำกับให้มีการใช้เพื่อการรักษาโรคเท่านั้น ไม่ใช้เพื่อเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงอย่าปล่อยน้ำหรือของเสียจากแหล่งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่บำบัด ซึ่งประเทศไทยมีปัญหานี้มาก

ส่วน พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อดื้อยามากที่สุดโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่อยู่ตามสถานเลี้ยงเด็ก เนื่องจากเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นหมู่มากก็เจ็บป่วยง่าย

แหล่งข้อมูล

1. พบยาปฏิชีวนะใน “แซนด์วิชไก่อบ” ห่วงใช้ยาฆ่าเชื้อเลี้ยงสัตว์ เพิ่มโอกาสเชื้อดื้อยา. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000114708 [2017, April 13].