วัคซีน “เดงวาเซีย” (ตอนที่ 1)

เดงวาเซีย-1

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 นายฟรานซิสโก ดูเก รัฐมนตรีสาธารณสุขฟิลิปปินส์ได้สั่งระงับ “เดงวาเซีย” วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกของซาโนฟี ปาสเตอร์ (Sanofi Pasteur) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของฝรั่งเศส หลังบริษัทดังกล่าวแจ้งว่า วัคซีนนี้อาจทำให้ผู้ไม่เคยติดเชื้อไวรัสเลือดออกมาก่อนมีอาการทรุดหนักลง

นายดูเกระบุว่า กระทรวงจะหารือกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องและองค์การอนามัยโลก แต่จนถึงขณะนี้กระทรวงยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้รับวัคซีนติดเชื้อเลือดออกรุนแรง และการเปิดเผยของซาโนฟีก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกราย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์จะเพิ่มการเฝ้าติดตามผู้รับวัคซีนและจะสอบสวนหากพบว่ามีผู้ป่วยหนักหลังฉีดวัคซีน โดยปีที่แล้วฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิตเพราะไข้เลือดออกกว่าพันคนจากผู้ติดเชื้อกว่า 21,000 คน

อนึ่ง ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มใช้วัคซีนต้านไข้เลือดออกในวงกว้าง โดยได้ฉีดให้แก่เด็กไปแล้วกว่า 733,000 คนตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนจะประกาศระงับการฉีดวัคซีน

ด้านองค์การอนามัยโลกแถลงว่า เพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า ขอแนะนำให้ใช้วัคซีนเดงวาเซียกับผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่านั้น กลุ่มที่ปรึกษาเรื่องวัคซีนขององค์การอนามัยโลกจะหารือว่าควรระงับการใช้วัคซีนขนานนี้ต่อไปหรือไม่

ส่วนนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขของประเทศฟิลิปปินส์ระงับการให้บริการวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในนักเรียนเป็นการชั่วคราวนั้น กรมควบคุมโรคได้มีการติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และต้องมีการพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทบทวนข้อมูลเพื่อการพิจารณานำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ ประกอบด้วยเชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ สามารถป้องกันการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ร้อยละ 65

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนหน้าที่จะได้รับวัคซีน และอายุของผู้ได้รับวัคซีน

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 โดยผ่านการพิจารณาและการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปัจจุบันวัคซีนนี้ยังไม่ได้บรรจุในรายการวัคซีนพื้นฐานที่ภาครัฐให้บริการแก่ประชาชน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดบางประการในการป้องกันไข้เลือดออก จำเป็นต้องพิจารณาจากข้อมูลทางระบาดวิทยา การประเมินผลกระทบทางสาธารณสุข ความคุ้มค่าในการนำวัคซีนมาใช้เพื่อลดอัตราป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลและลดค่าใช้จ่าย ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน และงบประมาณ

แหล่งข้อมูล:

  1. ฟิลิปปินส์ระงับวัคซีนไข้เลือดออก. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/783580 [2018, January 19].
  2. กรมควบคุมโรค เตรียมหารือในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในประเทศไทย. http://www.riskcomthai.org/2017/detail.php?id=36661 [2018, January 19].