เซรุ่มแก้พิษ "งูกรีนแมมบ้า" ถึงไทย

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ศกนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องของการสั่งนำเข้าเซรุ่มแก้พิษงูเขียวเเมมบ้า (Green Mamba) จากประเทศอัฟริกาใต้จำนวน 50 โดส (Dose = ปริมาณยาที่ให้ต่อครั้ง) ว่าจะมาถึงประเทศไทยในเวลาค่ำของวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานอุบัติการณ์ชาวบ้านถูกงูเขียวแมมบ้ากัด แต่ให้ถือว่าเป็นการเตรียมการป้องกันไว้ก่อน เพราะบางพื้นที่ [ที่น้ำท่วม] นั้น เสี่ยงต่อการเป็นพื้นที่อาศัยของงูมีพิษ ส่วนเซรุ่มที่แก้พิษงูอื่นๆที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น ประเทศไทยมีการผลิตเองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล

ปัจจุบันสถานเสาวภามีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูชนิดแห้งทั้งหมด 7 ชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เซรุ่มต้านพิษงูระบบประสาท 4 ชนิด ได้แก่ เซรุ่มแก้พิษงู จงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ส่วนประเภทเซรุ่มที่ต้านพิษงูระบบโลหิต 3 ชนิดคือ เซรุ่มแก้พิษงูกะปะ งูเขียวหางไหม้ และงูแมวเซา

ปรกติหากเก็บรักษาเซรุ่มแก้พิษงูชนิดผงแห้งในขวดปิดสนิทซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 25° เซลเซียส จะมีอายุ 5 ปี นับจากวันผลิต ก่อนใช้เซรุ่มแก้พิษงูชนิดผงแห้ง ต้องละลายด้วยสารละลายที่บรรจุมาในกล่อง (หรือละลายด้วยน้ำกลั่นสำหรับฉีดปริมาณ 10 มล.) ในกรณีที่ไม่ฉีดเซรุ่มแก้พิษงูเมื่อถูกงูพิษกัดทันที ผู้ป่วยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และจำเป็นต้องมีเตรียมการป้องกันล่วงหน้า หากผู้ป่วยจะมีประวัติว่าแพ้ หรือไวต่อส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งในน้ำยาเซรุ่ม

บางครั้งผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดเซรุ่ม อาจพบอาการข้างเคียง อาทิ ปวดบริเวณที่ฉีดยา มีปฏิกิริยาทางผิวหนัง และอาจมีไข้ ผู้ป่วยส่วนน้อยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีปฏิกิริยาทางการไหลเวียนของเลือด (อาทิ หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ ความดันโลหิตต่ำ เหงื่อออก และวิงเวียนศีรษะ) และ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ (อาทิ หน้าแดง คอแดง ลมพิษผื่นคัน และหายใจลำบาก) บางรายอาจเป็นมากถึงหมดสติ (Shock) ได้ ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ผู้ป่วยที่ถูกงูเห่าหรืองูจงอางกัด ในรายที่รุนแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย ส่วนเซรุ่มแก้พิษงูนั้นเตรียมจากพลาสมา Plasma (ส่วนของเหลวของน้ำเหลืองและโลหิต) ของม้า จึงอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อโปรตีนของม้าได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาดังกล่าว ก่อนฉีดเซรุ่ม แพทย์อาจจะทดสอบการแพ้ก่อน โดยฉีดเซรุ่มเจือจาง 1:100 ปริมาณ 0.02 มล. เข้าใต้ผิวหนังเพื่อดูปฏิกิริยา แต่การทดสอบนี้ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดอาการช็อค และ/หรืออาการแพ้ได้ทั้งหมด ในผู้ป่วยทุกราย

ส่วนงูเขียวแม้มบา ที่มีผู้แอบนำมาเลี้ยงจากทวีปอัฟริกาแล้วหลุดหนีไปกับน้ำท่วมนั้น เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมาก ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งแตกต่างไปสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของแหล่งดั้งเดิมของงู หลังจากที่ผู้ป่วยถูกงูชนิดนี้กัดแล้ว แผลอาจบวมลามไปตลอดส่วนแขนหรือขาที่ถูกกัด แต่แสดงอาการเลือดออกเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย บางกรณีเนื้อเยื่ออาจถูกทำลาย โดยเฉพาะจากการถูกกัดที่นิ้วมือ หรือจากการใช้ผูกสายรัดห้ามโลหิตจนแน่นเกินไป พิษจากงูชนิดนี้ร้ายแรงมากจนเป็นอันตรายถึงชีวิต แม้จะยังไม่ทราบอัตราการตายจากพิษงูที่ไม่ได้รับการเยียวยารักษา แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าน่าจะอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางสมอง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวลเกินไป เพราะหากถูกงูเห่า จงอาง หรืองูเขียวแมมบ้ากัด ถึงไม่มีเซรุ่มก็รอดตายได้ พิษทำให้กล้ามเนื้อทั้งตัวอ่อนแรงและหายใจเองไม่ได้ กลอกตาหรือกะพริบตาก็ไม่ได้ เหมือนคนตาย ทั้งๆ ที่รู้สึกตัวอยู่ตลอด จึงต้องให้ช่วยหายใจ โดยการเป่าปาก หรือหาลูกยางเป่าลมผ่านที่ครอบปากจมูก และสอดท่ออากาศเข้าในหลอดลม (Endotracheal tube) ถ้าไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ก็ให้บีบอากาศผ่านทางลูกยาง ซึ่งผู้โดนงูพิษกัดอาจหายใจเองไม่ได้เป็นวันหรือสัปดาห์ แต่กลับคืนสู่ปรกติได้ 100% ในไม่ช้า

แหล่งข้อมูล:

  1. เซรุ่มแก้พิษ "งูกรีนแมมบ้า" ถึงไทยวันนี้ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1320404636&grpid=00&catid=00 [2011, November 7].
  2. เซรุ่มแก้พิษงู http://www.saovabha.com/th/product_serum.asp?nTopic=2 [2011, November 7].
  3. Eastern green mamba. http://en.wikipedia.org/wiki/Eastern_green_mamba [2011, November 7].