เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (ตอนที่ 2)

เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

การติดเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจอาจเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวร กรณีชั่วคราวจะใช้รักษาปัญหาโรคหัวใจระยะสั้น เช่น จัวหวะการเต้นที่ช้าที่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack) การผ่าตัดหัวใจ (Heart surgery) หรือการได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไป (Overdose of medicine)

เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจแบบชั่วคราวสามารถใช้ยามฉุกเฉินจนกว่าแพทย์จะติดตั้งเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจแบบถาวรซึ่งใช้ในระยะยาวได้

แพทย์อาจแนะนำให้ติดเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจด้วยหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) และภาวะการฉีดโลหิตของห้องหัวใจล่างและบนไม่ประสานกัน (Heart block)

โดยแพทย์อาจแนะนำให้ติดเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ หากผู้ป่วย

  • มีอายุมากหรือเป็นโรคหัวใจที่ทำลายกลุ่มเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหัวใจ (Sinus node) ทำให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดนานระหว่างการเต้น หรือทำให้หัวใจเต้นช้าและเร็วสลับกันไปที่เรียกว่า กลุ่มอาการซิคไซนัส

[กลุ่มอาการซิคไซนัส หรือกลุ่มอาการไซนัสป่วย (Sick sinus syndrome / sinus node syndrome) เป็นกลุ่มของความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจอย่างหนึ่ง เชื่อว่าเกิดจากการทำหน้าที่ผิดปกติของไซนัสโนดซึ่งทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ]

  • มีการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ที่เรียกว่า หัวใจเต้นสั่นพริ้ว (Atrial fibrillation)

[Atrial fibrillation = AF เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่ง คือหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีทั้งเต้นช้าและเต้นเร็ว ส่วนใหญ่เต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง เป็นอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุด ถึงแม้จะไม่ทำให้เสียชีวิตแต่อาจนำมาซึ่งภาวะรุนแรงมากขึ้น เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดอื่น ทำให้อ่อนเพลียเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลว]

  • ต้องกินยารักษาหัวใจ เช่น กลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta blockers) ที่ทำให้หัวใจเต้นช้าเกินไป
  • เป็นลมหรือมีอาการอื่นที่แสดงว่าหัวใจเต้นช้าลง เช่น หากหลอดเลือดแดง (Artery) ที่คอซึ่งสูบฉีดไปยังสมองไวต่อความกดดัน เมื่อมีการหมุนคออย่างรวดเร็วอาจเป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง จึงรู้สึกมีอาการเป็นลม
  • มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำให้กระแสไฟ้ฟ้าเดินทางช้า
  • อยู่ในกลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT syndrome)
  • เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดที่มีกล้ามเนื้อหนา (Hypertrophic cardiomyopathy)

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำเครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจให้กับคนที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) หรือคนที่มีการปลูกถ่ายหัวใจ (Heart transplants)

แหล่งข้อมูล:

  1. What Is a Pacemaker? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/pace [2015, July 1].
  2. Abnormal Heart Rhythms and Pacemakers. [2015, July 1].