เกาต์กำเริบ (ตอนที่ 5)

เกาต์กำเริบ

สำหรับการวิเคราะห์โรคเกาต์อาจจะทำโดย

  • การตรวจน้ำไขข้อ (Joint fluid test) – ด้วยการใช้เข็มเจาะเข้ายังข้อที่มีปัญหา แล้วนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เพื่อตรวจดูผลึกยูเรท
  • การตรวจเลือด (Blood test) – เพื่อดูระดับกรดยูริคและค่าครีเอตินิน (Creatinine) ในเลือด

    อย่างไรก็ดีผลการตรวจเลือดอาจแสดงค่าที่ผิดก็ได้ เพราะบางคนที่มีระดับกรดยูริคที่สูง อาจไม่ปรากฏอาการของเกาต์ ในขณะที่บางคนมีอาการของเกาต์ แต่ไม่ปรากฏว่ามีระดับกรดยูริคที่ผิดปกติ

  • การตรวจปัสสาวะเพื่อดูระดับกรดยูริค
  • การเอกซเรย์ เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้ข้ออักเสบ
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Musculoskeletal ultrasound) – เพื่อดูผลึกยูเรทในข้อ
  • การตรวจ Dual energy CT scan – เพื่อค้นหาผลึกยูเรทในข้อ (วิธีนี้ไม่ค่อยใช้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง)

สำหรับการรักษาโรคเกาต์มักเป็นการให้ยา ซึ่งขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน ยารักษาสามารถใช้รักษาขณะโรคเกาต์กำเริบและป้องกันการเป็นอีกในอนาคต พร้อมๆ กับการลดอาการแทรกซ้อน เช่น การเกิดก้อน Tophi จากการสะสมของผลึกยูเรท ทั้งนี้ จะทำการรักษาระดับกรดยูริคให้น้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) โดยยาที่ใช้รักษา ได้แก่

  • ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) เช่น ยา Ibuprofen ยา Naproxen sodium ยา Indomethacin หรือ ยา Celecoxib

    โดยยาเอ็นเสดมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง เลือดไหล (Bleeding) และเป็นแผลพุพอง (Ulcers)

  • ยา Colchicines ซึ่งเป็นยาลดปวดที่ใช้ได้ดีกับอาการปวดของเกาต์ อย่างไรก็ดี ยานี้มักมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
  • ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยา Prednisone ที่ใช้ควบคุมอาการอักเสบและปวดจากโรคเกาต์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปยาเม็ดหรือยาฉีดเข้าข้อ

    โดยยาชนิดนี้ใช้กับคนที่ไม่สามารถใช้ได้ทั้งยาเอ็นเสด หรือ ยา Colchicines และมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง

ส่วนกรณีที่เป็นเกาต์อยู่บ่อยๆ หรือนานๆ เป็นทีแต่ปวดมาก แพทย์อาจสั่งยาเพื่อลดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อน ซึ่งได้แก่

  • ยาที่ยั้บยั้งการสร้างกรดยูริค (Xanthine oxidase inhibitors) เช่น ยา Allopurinol ยา Febuxostat ซึ่งจะช่วยลดระดับกรดยูริคในเลือดและลดความเสี่ยงของการเป็นเกาต์
  • ยาที่ช่วยการขับกรดยูริคออกจากร่างกายทางปัสสาวะ เช่น ยา Probenecid ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ เป็นผื่น ปวดท้อง และเป็นนิ่ว

แหล่งข้อมูล

1. Gout. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gout/basics/definition/con-20019400 [2016, April 26].

2. Gout. http://www.webmd.com/arthritis/tc/gout-topic-overview [2016, April 26].

3. Gout. http://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Gout [2016, April 26].