เกาต์กำเริบ (ตอนที่ 4)

เกาต์กำเริบ

ระยะเวลาของอาการเกาต์โดยประมาณ

  • ส่วนใหญ่จะหายหลัง 1 สัปดาห์
  • กรณีที่เป็นแบบอ่อนอาจจะหายภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือ 1-2 วัน ทำให้มีการวินิจฉัยผิดคิดว่าเป็นโรคเอ็นอักเสบ (Tendinitis) หรือ ข้อเคล็ดข้อแพลง (Sprain)
  • กรณีที่เป็นแบบรุนแรงจะใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือนานถึง 1 เดือน
  • ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นเกาต์จะกลับมาเป็นอีกครั้งภายในระยะเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปี หลังการเป็นครั้งแรก และหากไม่ทำการรักษาจะทำให้มีโอกาสเกาต์กำเริบบ่อยขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกรดยูริกสูงอันเป็นสาเหตุให้เกิดเกาต์ ได้แก่

  • อาหาร – การกินอาหารที่เป็นพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มที่มีรสหวานด้วยฟรุคโตส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์ จะเพิ่มระดับของกรดยูริก
  • การขาดน้ำอยู่บ่อยๆ (Dehydration)
  • ความอ้วน – หากมีน้ำหนักเกิน ร่างกายจะผลิตกรดยูริกมากขึ้น และไตจะใช้เวลามากในการกำจัดกรดยูริก
  • โรคอื่นๆ – โรคบางชนิดก็มักทำให้มีโอกาสเป็นเกาต์ได้มากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังอย่าง โรคเบาหวาน กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) โรคหัวใจ และโรคไต
  • ยาบางชนิด – เช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่มยาไทอะไซด์ (Thiazide diuretics) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาแอสไพริน ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy medicines) หรือยาป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ (Anti-rejection drugs) ที่ใช้ในผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ล้วนสามารถเพิ่มระดับของกรดยูริกได้
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเกาต์ – จะมีความเสี่ยงในการเป็นเกาต์มากขึ้น
  • อายุและเพศ – เกาต์มักเกิดในเพศชายเพราะมีกรดยูริกมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ดีหลังวัยหมดประจำเดือน เพศหญิงจะมีกรดยูริกพอๆ กับเพศชาย นอกจากนี้เพศชายมักเป็นเกาต์ตอนอายุระหว่าง 30-50 ปี ในขณะที่เพศหญิงมักมีอาการเป็นเกาต์หลังวัยหมดประจำเดือน
  • มีการผ่าตัดหรือได้รับบาดเจ็บ – จะมีความเสี่ยงในการเป็นเกาต์มากขึ้น
  • เป็นโรคแต่กำเนิดที่เป็นสาเหตุให้มีระดับกรดยูริคในเลือดสูง เช่น ผู้ที่เป็นโรค Kelley-Seegmiller syndrome หรือโรค Lesch-Nyhan syndrome ซึ่งจะขาดเอนไซม์ในการควบคุมระดับกรดยูริค
  • ผู้ที่เป็นโรคเกาต์สามารถมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ถ้า

    • มีการกลับมาเป็นซ้ำ (Recurrent gout) – บางคนอาจไม่มีอาการกลับมาเป็นซ้ำ ในขณะที่บางคนมีการเป็นซ้ำหลายครั้งในแต่ละปี ซึ่งยาอาจจะช่วยได้ แต่หากไม่ทำการรักษาแล้วเกาต์จะเป็นสาเหตุให้ข้อถูกทำลาย
    • เกาต์ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมของผลึกยูเรทใต้ผิวหนังที่เป็นก้อน Tophi ในหลายบริเวณ เช่น นิ้วมือ มือ เท้า ข้อศอก หรือเอ็นร้อยหวายหลังเท้า ซึ่งมักจะไม่เจ็บ แต่จะบวมและนุ่มระหว่างที่เกาต์กำเริบ
    • ผลึกยูเรทอาจสะสมในทางเดินปัสสาวะของผู้ที่เป็นโรคเกาต์ทำให้เป็นนิ่วในไต (Kidney stones)

    แหล่งข้อมูล

    1. Gout. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gout/basics/definition/con-20019400 [2016, April 25].

    2. Gout. http://www.webmd.com/arthritis/tc/gout-topic-overview [2016, April 25].