เกลือแร่ในเลือด (Blood electrolyte)

บทความที่เกี่ยวข้อง
เกลือแร่ในเลือด

เกลือแร่ หรือ แร่ธาตุ (Minerals หรือ Elements)ทางการแพทย์หมายถึง สารเคมีสำคัญในร่างกายที่ทำหน้าที่ช่วยการทำงานของอวัยวะต่างๆให้เป็นปกติ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ หัวใจ สมอง และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในเอนไซม์ และฮอร์โมนต่างๆอีกด้วย โดยทั่วไป ร่ายกายได้รับเกลือแร่จากอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ นม เครื่องดื่มต่างๆ

เกลือแร่ แบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ Macrominerals และ Trace minerals

  • Macrominerals คือ เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการเป็นปริมาณมาก ที่สำคัญ คือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม คลอไรด์ ซัลเฟอร์
  • Trace minerals คือเกลือแร่ที่สำคัญเช่นกัน แต่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย เช่น เหล็ก แมงกานีส ทองแดง ไอโอดีน สังกะสี ฟลูออไรด์ ซีลีเนียม

    ส่วนเกลือแร่อีกรูปแบบที่อยู่ในน้ำ/ในของเหลวเรียกว่า Fluid electrolyte หรืออยู่ในเลือด เรียกว่า Blood electrolyte หรือทั่วไปเรียกรวมกันว่า “อีเล็กโทรไลต์(Electrolyte)” หมายถึง เกลือแร่ที่อยู่ในร่างกายในรูปเป็นประจุไฟฟ้า(Electric charge หรือ Ionized salt หรือ Non-ionic ion) ซึ่งอาจเป็นประจุบวก(+)หรือประจุลบ(-)ก็ได้ โดยจะอยู่ทั้งใน เลือด ปัสสาวะ ของเหลว และในเนื้อเยื่อต่างๆ(เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ สมอง กล้ามเนื้อ) โดยมีหน้าที่

  • คงสมดุลย์ของเกลือแร่ในร่างกาย
  • คงสมดุลย์ของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
  • คงสมดุลย์ความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย
  • ช่วยในการนำสารอาหารต่างๆเข้าสู่ภายในเซลล์
  • ช่วยนำของเสียออกจากเซลล์
  • ช่วยการทำงานสำคัญของ สมอง เส้นประสาท หัวใจ กล้ามเนื้อ ให้เป็นปกติ

เมื่อเกิดภาวะขาดเกลือแร่ หรือ มีเกลือแร่มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิด ภาวะขาดน้ำ อาการบวมน้ำ การหายใจหอบเหนื่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเป็นตะคริว สมองทำงานผิดปกติ อาจเกิดการชัก และ/หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

เราสามารถตรวจหาเกลือแร่/อีเล็กโทรไลต์ได้จากการตรวจเลือด และบางครั้งจากการตรวจปัสสาวะ

อนึ่ง ร่างกายได้รับเกลือแร่/อีเล็กโทรไลต์จาก อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ และ/หรือ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และจะสูญเสียเกลือแร่/อีเล็กโทรไลต์ทาง เหงื่อ การหายใจ อาเจียน อุจจาระ และทางปัสสาวะ

เกลือแร่/อีเล็กโทรไลต์สำคัญที่เรารู้จักกันดี คือ

  • โซเดียม (Sodium ย่อว่า Na, Na+ )
  • โพแทสเซียม (Potassium ย่อว่า K, K+)
  • คลอไรด์ (Chloride ย่อว่า Cl, Cl-)
  • แคลเซียม (Calcium ย่อว่า Ca, Ca+)
  • ฟอสฟอรัส/ฟอสเฟต (Phosphorus ย่อว่า P, หรือ Phosphate ย่อว่า PO43-)
  • Bicarbonate หรือ Hydrogencarbonate ion (HCO3-)

ส่วนเกลือแร่/อีเล็กโทรไลต์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ดังนี้

  • โซเดียม มีหน้าที่ ช่วยคงสมดุลของน้ำในร่างกาย ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ ของเซลล์สมอง และช่วยคงความดันโลหิต
  • โปแตสเซี่ยม มีหน้าที่ ช่วยการเต้นและการทำงานของหัวใจ และช่วยการหดและยืดตัวของกล้ามเนื้อ
  • คลอไรด์ มีหน้าที่ช่วย รักษาสมดุลความเป็นกรดด่างของเลือด

ทั้งนี้ คำว่า Electrolyte มาจากภาษากรีก หมายถึง ความสามารถที่จะเข้ารวมกับสิ่ง/สารต่างๆ หรือ สามารถที่จะสูญเสียไปได้

อนึ่ง:

  • เพื่อให้การทำงานของทุกเซลล์เป็นไปอย่างปกติ ร่างกายต้องมีปริมาณ ของน้ำ/ของเหลวและของเกลือแร่/อีเล็กโทรไลต์ในร่างกายที่เป็นปกติ ที่เรียกว่า มีสมดุลของน้ำ(Water balance)ที่มักเรียกอีกชื่อว่าของเหลว (Fluid balance) และสมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte balance) ที่ทัวไปมักเรียกรวมกันว่า”สมดุลของน้ำและเกลือแร่ (Fluid and electrolyte balance)” ทั้งนี้ อวัยวะที่ควบคุมให้น้ำและเกลือแร่อยู่ในสมดุล เช่น ไต ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ผิวหนัง ปอด
  • ร่างกายได้รับน้ำ/ของเหลวจาก น้ำดื่มเป็นหลัก นอกจากนั้นคือจาก อาหาร และ เครื่องดื่มต่างๆ
  • การเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ หรือ น้ำและเกลือแร่ไม่สมดุล หรือการขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่(Fluid electrolyte imbalance หรือ Fluid electrolyte disorder) หรือการเสียสมดุลของเกลือแร่ หรือเกลือแร่ไม่สมดุล หรือ การขาดสมดุลของเกลือแร่(Electrolyte imbalance) เกิดได้จากหลายโรค/ภาวะ เช่น ภาวะ/โรคที่ทำให้เสียน้ำและ/หรือเสียเกลือแร่ (เช่น ท้องเสีย อาเจียน ขาดอาหาร ลมแดด) การดื่มน้ำน้อย อาการไข้ (เสียเกลือแร่ทางเหงื่อ) โรคไต โรคของต่อมหมวกไต และโรคของต่อมใต้สมอง
  • อาการจากการเสียสมดุลของน้ำและของเกลือแร่ เช่น บวม หายใจลำบาก หายใจเร็ว สับสน มีความผิดปกติในปัสสาวะ (อาจปริมาณมากหรือน้อยผิดปกติ) กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ
  • การรักษาภาวะเสีย/ขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ คือ การปรับสมดุลของน้ำและของเกลือแร่โดยการเสริมด้วย น้ำ เกลือแร่ที่ร่างกายขาด(เช่น การให้น้ำเกลือ/น้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ) การกินยาต่างๆ เช่น ยาที่เป็นเกลือแร่(เช่นยาเม็ด Sodium chloride) การขับออกของน้ำและ/หรือของเกลือแร่ส่วนเกิน(เช่น ยาขับปัสสาวะ) ทั้งนี้ต้องร่วมกับการรักษาสาเหตุด้วยเสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://medlineplus.gov/minerals.html [2018,Jan6]
  2. https://medlineplus.gov/fluidandelectrolytebalance.html [2018,Jan6]
  3. http://www.merckmanuals.com/home/disorders-of-nutrition/minerals/overview-of-minerals [2018,Jan6]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Electrolyte [2018,Jan6]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Electrolyte_imbalance [2018,Jan6]
Updated 2018,Jan6