ฮีสโตพลาสโมสิส ของฝากจากถ้ำ (ตอนที่ 2)

ฮีสโตพลาสโมสิส-2

      

      โรคที่อาจติดออกมาจากถ้ำ (ต่อ)

      1. โรคฮีสโตพลาสโมสิส เป็นโรคที่เกิดจากสปอร์ของเชื้อรา ที่มักเจริญเติบโตอยู่บนผิวดินที่ชุ่มชื้น อย่างภายในถ้ำที่มีน้ำขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีนกหรือค้างคาวถ่ายมูลไว้ สามารถติดเชื้อนี้ได้โดยการสูดเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไปในร่างกาย

      2. โรคสมองอักเสบนิปาห์ เป็นโรคจากเชื้อไวรัสนิปป้า ซึ่งเชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในร่างกายของค้างคาวกินผลไม้ ที่ไม่แสดงอาการป่วย ทั้งนี้สามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากการสัมผัสหรือกินวัตถุที่ปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาวที่เป็นพาหะ

      3. โรคไข้เลือดออก หรือไข้เด็งกี เป็นโรคติดเชื้อซึ่งระบาดในเขตร้อน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่ติดต่อผ่านทางพาหะ คือยุงในหลายสปีชีส์ โดยเฉพาะกับยุงลาย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีอยู่ในถ้ำเช่นกัน แม้จะไม่มากก็ตาม

      และเนื่องจากหลายโรค ส่วนมากเราเคยรู้จักกันอยู่แล้ว คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคที่ชื่อไม่คุ้นกันดู นั่นคือ “โรคฮีสโตพลาสโมสิส”

      โรคฮีสโตพลาสโมสิส Histoplasmosis / Cave disease / Darling's disease / Ohio valley disease / Reticuloendotheliosis / Spelunker's lung) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเกิดจากสปอร์ของเชื้อราที่ชื่อ Histoplasma capsulatum ซึ่งมีลักษณะเบาและลอยไปในอากาศเมื่อมีการฟุ้งกระจาย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

      เชื้อนี้พบได้ทั่วโลก แต่พบมากที่สุดที่แถบอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง โดยเฉพาะที่ Ohio และบริเวณ Mississippi River Valleys ซึ่งมีการประมาณว่าในแต่ละปีมีชาวอเมริกันที่ติดเชื้อนี้ประมาณ 250,000 ราย

      ซึ่งเชื้อรานี้จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ชื้น เช่น ในถ้ำที่มีน้ำขัง โรงนาเก่า เล้าไก่ กรงนก และสวนสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่มีนกหรือค้างคาวถ่ายมูลไว้ จะสามารถเป็นตัวแพร่กระจายโรคฮีสโตพลาสโมสิสได้

      โรคฮีสโตพลาสโมสิสเป็นโรคที่ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน เราสามารถติดเชื้อนี้ได้โดยการที่สปอร์กระจายในอากาศ แล้วเราสูดเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมักเกิดขณะที่ทำความสะอาดหรือทำการรื้อถอนสถานที่ และแม้คนที่เคยติดเชื้อนี้แล้ว ก็อาจติดเชื้อได้อีก แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก ส่วนผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานอ่อนแอเชื้ออาจแฝงตัวได้นานนับเดือนหรือนับปี และทำให้กลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีก

      เมื่อสปอร์ราเข้าสู่ร่างกายที่ปอด อุณหภูมิของร่างกายจะทำให้สปอร์ราเปลี่ยนสภาพเป็นยีสต์ (Yeast) เข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง และสามารถที่จะกระจายไปทั่วทั้งร่างกายผ่านทางกระแสเลือด อย่างไรก็ดี ทุกคนที่สูดเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกายก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องป่วยกันทุกคน

      โรคนี้อาจเกิดได้ในสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข เป็นต้น แต่จะไม่มีการติดต่อระหว่างคนและสัตว์

แหล่งข้อมูล:

  1. รวม 9 โรคที่ทีมหมูป่า (อาจ) ติดออกมาจากถ้ำหลวง. https://www.thairath.co.th/content/1330835 [2018, July 21].
  2. Histoplasmosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/histoplasmosis/symptoms-causes/syc-20373495 [2018, July 21].
  3. Histoplasmosis.https://www.cdc.gov/fungal/diseases/histoplasmosis/index.html [2018, July 21].
  4. Histoplasmosis.https://www.medicinenet.com/histoplasmosis_facts/article.htm#what_is_histoplasmosis [2018, July 21].
  5. Histoplasmosis.https://en.wikipedia.org/wiki/Histoplasmosis [2018, July 21].