อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาหารไม่ย่อย หรือธาตุพิการ (Indigestion หรือ Dyspepsia) คือ อาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้น อาจมีเพียงอาการเดียว หรือหลายๆอาการพร้อมกัน อาจเกิดในขณะกินอาหาร และ/หรือภายหลังกินอาหาร เช่น แน่นท้อง อึดอัดในท้อง เรอ แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ บางครั้งอาเจียน

 

อาหารไม่ย่อย เป็นอาการมักพบในผู้ใหญ่ แต่พบได้ในทุกอายุ เป็นอาการพบบ่อยประมาณได้ถึง 25-40% ของประชากรทั่วโลกต่อปี โอกาสเกิดอาการใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

 

อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไร?

อาหารไม่ย่อย

อาการอาหารไม่ย่อยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60%ของผู้มีอาการนี้ทั้งหมด คือ แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการตรวจด้วยวิธีใดๆก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่ง เรียกผู้ป่วยในกลุ่มนี้ว่า Functional dyspepsia

 

นอกจากนั้นที่พบเป็นสาเหตุของอาการนี้ คือ

  • จากโรคแผลเปบติค หรือ แผลในกระเพาะอาหาร พบได้ประมาณ 15-25%
  • โรคกรดไหลย้อน (กรดไหลกลับ) หรือโรคเกิร์ด (GERD, Gastroesophageal reflux) พบได้ประมาณ 5-15%
  • โรค มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งหลอดอาหาร พบได้ประมาณ น้อยกว่า 2%
  • นอกนั้น จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างประปราย เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอักเสบ โรคกระเพาะอาหารบีบตัวได้น้อย โรคขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยน้ำนม โรคเบาหวาน มีพยาธิลำไส้ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งตับอ่อนและจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDS, Non-steroidal anti-inflammatory drug)

 

ปัจจัยเสี่ยงต่ออาหารไม่ย่อยมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการอาหารไม่ย่อยกลุ่มที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน (Functional dyspepsia) ที่พบบ่อย คือ

  • กินอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ ส่งผลให้น้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารได้
  • กินอาหารไขมันมาก อาหารทอด ผัด ที่ใช้น้ำมันมาก ซึ่งอาหารไขมันเป็นอาหารย่อยยาก ตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้นาน
  • กินอาหารรสจัด จึงก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
  • กินเร็ว จึงเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารจึงย่อยยาก
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
  • สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
  • ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด เพราะกาเฟอีนกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
  • กินอาหารกากใยอาหารสูง เพราะย่อยยาก และเป็นอาหารสร้างก๊าช/แก๊สในลำไส้
  • ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด กังวล เพราะส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ และ/หรือมีการบีบตัวเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารลำไส้ผิด ปกติ

 

อาหารไม่ย่อยมีอาการอย่างไร?

อาการจากอาหารไม่ย่อยที่พบได้บ่อย คือ

  • แน่น อึดอัดท้อง โดยเฉพาะบริเวณกลางช่องท้องตอนบน มักมีอาการได้ตั้งแต่ใน ขณะกินอาหาร หรือหลังกินอาหารอิ่มแล้ว
  • ปวดท้อง มวนท้อง แต่อาการไม่มาก โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหาร (ช่องท้องบริเวณลิ้นปี่/ตรงกลางของช่องท้องตอนบน)
  • แสบ ร้อน บริเวณลิ้นปี่ และ/หรือ แสบร้อนกลางอก
  • อาจมีคลื่นไส้ และ/หรืออาเจียนได้
  • อาจมีท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ และ/หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ลำไส้มาก

 

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาหารไม่ย่อยอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อยและสาเหตุได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วย และการกินยา/ใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย

 

ซึ่งทั่วไป หลังการซักถามฯและการตรวจร่างกาย แพทย์จะแนะนำให้กินยาประเภทยาลดกรด หรือเพิ่มการย่อยอาหาร และปรับพฤติกรรมการกินอาหาร หลังจากนั้นให้ดูอาการประมาณ 3-4 สัปดาห์

  • ถ้าอาการดีขึ้น ก็วินิจฉัยว่า อาการอยู่ในกลุ่มอาการอาหารไม่ย่อย
  • แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการมากขึ้น จึงอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือดดูน้ำตาลเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน
    • การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแผลเปบติค
    • แต่ที่ให้ผลแน่นอน และสามารถวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาอาการอาหารไม่ย่อยอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ

 

ก.การรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาโรคแผลเปบติค หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น

ข. แต่เมื่อแพทย์วินิจฉัยเป็นอาการอาหารไม่ย่อยจาก ไม่ทราบสาเหตุ แนวทางการรักษา คือ

  • การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
  • การให้ยาต่างๆตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ยาลดกรด
    • ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร/ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดิน อาหาร
    • ยาช่วยย่อยอาหาร และ
    • ยาขับลม/ดูดซึมแก๊สในลำไส้
  • แต่ถ้าอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือมีอาการเลวลง หรือ มีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกเหนือไปจากอาการเดิม เช่น อุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด
    • แพทย์มักแนะนำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอน
    • รวมทั้งเพื่อ การวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคแผลเปบติค

 

อาหารไม่ย่อยรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการอาหารไม่ย่อยขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • การพยากรณ์โรครุนแรงเมื่อเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • แต่โดยทั่วไป เมื่อเกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือจากกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ อาการมักไม่รุนแรง รักษาควบคุมอาการได้ แต่มักเป็นๆหายๆ เรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิตได้

 

ส่วน ผลข้างเคียงจากอาการอาหารไม่ย่อย คือ

  • ความไม่สุขสบาย
  • และยังขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากโรคแผลเปบติค หรือ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือ อุจจาระดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกจากแผลเปบติค หรือ จากแผลมะเร็ง

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย คือ

  • การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
  • อาจปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ซื้อยาลดกรด หรือยาช่วยย่อยอาหารกินเอง
  • ถ้าภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือเมื่อกังวลในอาการ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ
  • แต่ถ้าอาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ และ
  • ควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย หรือมีอาเจียนเป็นเลือด

 

ป้องกันอาหารไม่ย่อยอย่างไร?

ป้องกันการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้โดย การป้องกันสาเหตุ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น

  • กินอาหารให้ตรงเวลา
  • กินอาหารแต่ละมื้อไม่ให้อิ่มมากเกินไป
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  • ไม่กินอาหารรสจัด
  • หลังกินอาหารไม่นอนทันที
  • เคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังกินอาหารเพื่อช่วยการย่อย และการบีบตัวของกระ เพาะอาหารเพื่อขับเคลื่อนอาหารออกจากกระเพาะอาหารได้เร็ว ไม่คั่งค้างให้เกิดอาการ

 

นอกจากนั้น คือการสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการ กับประเภท และปริมาณอาหาร และหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณอาหารเหล่านั้นๆลง ค่อยๆปรับตัวไปเรื่อยๆ

 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Loyd, R., and McClellan, D. (2011).Update on evaluation and management of functional dyspepsia. Am Fam Physician. 83, 547-552.
  3. Pharm, O., and Schneider, F. (1999). Evaluation andmanagement of dyspepsia. Am Fam Physician. 60, 1773-1788.
  4. Saad, R., and Chey, W. (2005). A clinician’s guide to managing helicobacter pylori infection. Cleveland Clinic Journal of Medicine. 72, 109-123
  5. https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/stomach-liver-and-gastrointestinal-tract/indigestion [2018,Dec8]
  6. https://www.healthnavigator.org.nz/health-a-z/i/indigestion/ [2018,Dec8]