อาหารปลอดภัย ห่างไกลไข้หูดับ

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ ศ. นพ. ดร. คาซูโนริ โออิชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อแบคทีเรียจากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะเป็นผู้วิจัยโรคไข้หูดับ โดยร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ในการนำร่องการรณรงค์ที่จังหวัดพะเยา ให้คนไทยเลิกกินเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับดังกล่าว

โรคไข้หูดับหรือโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis หรือ S. suis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากหมูซึ่งพบได้ในทุกประเทศที่มีอุตสาหกรรมการเลื้ยงหมู สามารถติดต่อระหว่างหมูด้วยกันโดยการสัมผัสระหว่างจมูกหรือการหายใจรดกันในระยะใกล้ เชื้อนี้สามารถติดต่อจากหมูมายังคนได้โดยการสัมผัสกับซากหมูหรือเนื้อหมูที่เป็นโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่มือมีแผลเปิดหรือรอยถลอก

แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการติดต่อจากคนไปสู่คน อาการติดเชื้อที่รุนแรง ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ภาวะเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อ (Septicemia) การอักเสบของเนื้อเยื่อบุหัวใจ (Endocarditis) ปอดบวม (Pneumonia) และอาการหูหนวก (Deafness)

อาการเบื้องต้นที่พบประจำในหมูที่เป็นโรคคือ หมูเป็นไข้และอาจมีอาการตายอย่างเฉียบพลัน บางทีมีอาการของโรคทางเดินหายใจ ปอดบวม และหายใจลำบาก หรือมีอาการทางประสาทอันเป็นผลมาจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้ออาจกระจายไปที่ข้อต่อทำให้หมูขาพิการหรือขาบวม นอกจากนี้อาจมีอาการอักเสบที่ผิวหนัง

การตรวจเลือดด้วยวิธีการเพาะเชื้อ (Blood culture) เป็นวิธีการวินิจฉัยโรคที่จำเป็นเช่นเดียวกับการตรวจสมองและน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid: CSF)

เพนนิซิลิน (Penicillin) แอมพิซิลิน (Ampicillin) และ อะม็อกซิลิน (Amoxicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส แต่ถ้ามีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อบุหัวใจ (Endocarditis) จะมีการให้ยาเจนทามัยซิน (Gentamicin) ร่วมด้วย

โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส มักเกิดในแถบยุโรปตอนเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงฮ่องกง ประเทศไทยและไต้หวัน โรคนี้น่าจะเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับพ่อค้าเนื้อหมู ผู้ทำงานโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ได้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ในมณฑลเสฉวนของจีน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า100 รายและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ราย และในเวลาเดียวกันก็พบการระบาดของโรคในฮ่องกงด้วย โดยมีผู้ติดเชื้อ 11 ราย ทั้งนี้พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการสัมผัสโดยตรงกับตัวหมู

การป้องกันโรคนี้สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหมูที่ป่วย หากต้องสัมผัสควรสวมถุงมือป้องกันและปิดแผลไม่ให้สัมผัสเชื้อ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังการสัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมูสด กรณีปรุงอาหารที่มีส่วนประกอบของหมูควรทำให้สุก ผ่านความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส (Celsius) นาน 10 นาที ก่อนนำไปรับประทาน หากมีอาการป่วยที่สำคัญ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน และต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ การพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราเสียชีวิตและหูหนวกได้

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เดินหน้าประชาชนสุขภาพดี http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000050221 [2012, April 30].
  2. Streptococcus suis. http://en.wikipedia.org/wiki/Streptococcus_suis [2012, May 1].
  3. Fact sheet on Streptococcus suis infection. http://www3.ha.org.hk/idctc/news_events/12906.pdf [2012, May 1].
  4. โรคไข้หูดับ http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/disease/strep.html [2012, April 26, May 1].