อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อัลตราซาวด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound scanning) บางท่านออกเสียงเป็นอุลตราซาวด์ หรือบางท่านเรียกว่า โซโนแกรม (Ultrasonogram หรือ Ultrasonography หรือ Medi cal ultrasonography หรือ Sonogram หรือ Sonography) ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้คลื่นเสียงกำลังสูงสะท้อนให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ) ต่างๆทำให้เห็นได้ถึง ความปกติ และความผิดปกติ จึงสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้

แนวความคิดในการนำอัลตราซาวด์มาใช้ทางการแพทย์เริ่มในปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) โดยนักเคมีชาวอเมริกัน ต่อจากนั้น ในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) John J Wild แพทย์ชาวอัง กฤษแต่มาใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกการนำอัลตราซาวด์มาใช้เพื่อการวิ นิจฉัยโรค โดยครั้งแรกใช้ในการตรวจความหนาของลำไส้ ซึ่งต่อมาท่านผู้นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ (Father of medical ultrasound) และในปีค.ศ. 1962 (พ.ศ.2505) นายแพทย์ J Holmes, วิศวกร W. Wright, และ นักดนตรี R. Meyerdirk ทั้งหมดเป็นชาวอเมริกัน ได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทางการค้าได้สำเร็จ และสามารถผลิตออกจำหน่ายได้ในปี ค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) ต่อจากนั้น เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ก็ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง จนเป็นเครื่องที่ให้ประสิทธิภาพการตรวจอย่างสูงเช่นในปัจจุบัน จนสามารถตรวจให้ภาพได้ตั้งแต่ 2 มิติ ไปจนถึง 4 มิติ (ภาพ 3 มิติที่มีการเคลื่อนไหวได้ตามความจริง) และยังจะพัฒนาต่อไปอีก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวินิจฉัยโรคเฉพาะ เจาะจงในแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะ

อัลตราซาวด์ เป็นคลื่นเสียง ซึ่งมีความถี่สูงกว่าหูมนุษย์จะได้ยิน โดยคลื่นเสียงที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค จะมีความถี่ตั้งแต่ 20 KiloHertz (KHz/หน่วยของคลื่นเสียง) ขึ้นไป ซึ่งคลื่นเสียงนี้ในทางการแพทย์นำมาใช้ทั้งในการวินิจฉัยและในการรักษาโรค (เช่น ในหน่วยงานของเวชศาสตร์ฟื้นฟู/กายภาพบำบัด) แต่ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของการวินิจฉัยโรคเท่านั้น

แพทย์ที่นำอัลตราซาวด์มาใช้เพื่อการตรวจโรค เป็นแพทย์ในหลายสาขา ที่ใช้วินิจฉัย โรคทั่วไป คือ แพทย์ในสาขารังสีวิทยา นอกจากนั้นที่ใช้บ่อย คือ แพทย์โรคหัวใจ ที่ใช้อัลตราซาวด์วินิจฉัยโรคทางหัวใจ ที่เราเรียกว่า เอคโค (Echocardiogram หรือ Echocardiography) และสูตินรีแพทย์ ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคของทารกในครรภ์ และโรคต่างๆของสตรี

อัลตราซาวด์ทำให้เกิดภาพได้โดย เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะ คลื่นเสียงจะมีการสะท้อนกลับเสมอ ด้วยหลักการเดียวกับเครื่องโซนา (Sonar) ของค้างคาว หรือที่ใช้ในการเดินเรือ ซึ่งการสะท้อนเสียงกลับจะมีความถี่คลื่นที่แตกต่างกันตามความหนาแน่นของเนื้อ เยื่อ/วัตถุที่ทำให้เกิดการสะท้อนเสียงนั้นๆ จึงทำให้เกิดภาพจากการสะท้อนเสียงที่แตกต่างกันในเนื้อเยื่อ/อวัยวะแต่ละชนิด และในแต่ละชนิดของโรค แพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะทาง จึงสามารถอ่านภาพเหล่านั้นเพื่อการวินิจฉัยโรคได้ อย่างไรก็ตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ให้การสะท้อนเสียงที่ไม่ดี คือ เนื้อเยื่อที่มีอากาศอยู่มาก เช่น ปอด และลำไส้ที่พองตัว กระดูก และในคนอ้วน /โรคอ้วน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นข้อจำกัดในการตรวจโรคด้วยอัลตราซาวด์

อัลตราซาวด์มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

อัลตราซาวด์

อัลตราซาวด์มีประโยชน์และโทษ ดังนี้

ก. อัลตราซาวด์เป็นเครื่องตรวจโรคที่มีประโยชน์มาก กล่าวคือ

  • สามารถตรวจเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ) ได้ทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เช่นเดียวกับ การเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอ (MRI,Magnetic resonance imaging) ทั้งนี้ ถึงแม้ความละเอียดชัดเจนของภาพจากอัลตราซาวด์จะด้อยกว่าภาพจากเอกซ เรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่สูงมาก ทำให้การตรวจด้วยอัลตราซาวด์มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กล่าวว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนา การตรวจวินิจฉัยโรคจากประวัติอาการของผู้ ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับการเอกซเรย์ธรรมดา และ/หรืออัลตราซาวด์ ก็สามารถชดเชยการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอได้ถึง 2 ใน 3 ของผู้ป่วย
  • อัลตราซาวด์มีผลข้างเคียงจากการตรวจน้อยกว่า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอมาก เพราะไม่ใช่รังสีเอกซ์ (รังสีจากการตรวจโรค) คลื่นแม่เหล็ก หรือคลื่นวิทยุ และไม่มีการฉีดสี (สารที่ใช้ฉีดเข้าหลอดเลือดเพื่อช่วยทำให้ภาพจากการตรวจชัดเจนขึ้น) ดังนั้นจึงสามารถตรวจในหญิงตั้งครรภ์ ในเด็กทารก และในการตรวจซ้ำๆได้บ่อยกว่าจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และจากเอมอาร์ไอ
  • อัลตราซาวด์ ถึงแม้ให้ภาพในการวินิจฉัยได้ไม่ชัดเจนเท่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอ แต่ก็ไม่ได้ด้อยกว่ามากนัก แต่ปลอดภัยกว่าจากปัจจัยต่างๆดังได้กล่าวแล้ว และค่าใช้จ่ายในการตรวจก็ยังถูกกว่ามาก รวมทั้งให้ผลตรวจที่รวดเร็วกว่า จึงเหมาะที่จะใช้เป็นการตรวจในโรคที่ไม่ซับซ้อน ในการตรวจเบื้องต้น ในการตรวจคัดกรอง (Screening) และในการตรวจเพื่อติดตามโรคและติดตามผลจากการรักษา
  • อัลตราซาวด์ สามารถตรวจภาพและแสดงภาพเคลื่อนไหวในการทำงานของเนื้อ เยื่อ/อวัยวะนั้นๆให้แพทย์เห็นได้ตามความเป็นจริงในขณะตรวจ ในขณะที่ภาพจากเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอมอาร์ไอจะให้ภาพนิ่ง ดังนั้นบางสถานการณ์ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์จึงให้ประโยชน์มากกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ เช่น การตรวจภาพการเต้น บีบตัวของหัวใจ หรือตรวจการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น
  • อัลตราซาวด์เป็นคลื่นเสียง ซึ่งในระดับความถี่นี้ รวมทั้งในระยะเวลาที่ใช้ตรวจสั้น ๆ ประมาณ 15-30 นาที (ขึ้นกับอวัยวะที่ต้องการตรวจ) ยังไม่มีรายงานถึงโทษ หรือผลข้าง เคียงของอัลตราซาวด์ทั้งต่อทารกในครรภ์และในผู้ป่วยอื่นๆ นอกจากนั้น คลื่นเสียงไม่ใช่สนาม แม่เหล็ก ไม่ใช่คลื่นวิทยุ เช่นในเอมอาร์ไอ และที่สำคัญไม่ใช่รังสีเอกซ์ (รังสีจากการตรวจโรค) เหมือนในเอกซเรย์ธรรมดาและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จึงไม่มีผลต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์เป็นเซลล์มะเร็ง หรือก่อความพิการต่อทารกในครรภ์ จึงสามารถใช้ตรวจในหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ และในเด็กได้ปลอดภัยกว่า
  • อัลตราซาวด์ไม่มีการฉีดสีเข้าหลอดเลือดในการตรวจเหมือนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือในเอมอาร์ไอ จึงไม่เสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่อาจก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรังจากสีที่ฉีด
  • เครื่องตรวจอัลตราซาวด์มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่าย และเนื่องจากไม่ใช่รังสีเอกซ์ คลื่นแม่เหล็ก หรือคลื่นวิทยุ จึงสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานที่ ไม่จำเป็นต้องมีห้อง หรือ เครื่องป้องกันรังสี หรือสนามแม่เหล็กพิเศษ สามารถตรวจข้างเตียงผู้ป่วยได้เลย

ข.โทษของอัลตราซาวด์: ตั้งแต่มีการนำอัลตราซาวด์มาใช้ในการตรวจโรคทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงที่พิสูจน์ได้ว่า เกิดจากการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ยกเว้นในบางคนเป็นส่วนน้อยมากที่แพ้น้ำยาเจล (Gel) ที่ใช้ทาผิวหนังในตำแหน่งตรวจโรค ก่อ ให้เกิดผื่นคันได้ ซึ่งมักหายได้เอง หรือทายาแก้แพ้ เช่น ยาแอนติฮีสตามีน (Antihistamine) อาการจะหายได้ภายใน 2-3 วัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า การใช้อัลตราซาวด์บ่อยๆ อาจก่อให้เกิดการเสียหายต่อเซลล์สมองในหนูทดลอง และอาจก่อให้เซลล์เกิดความร้อนมากจนถึงขั้นเกิดเป็นฟองอากาศ หรือเกิดช่องว่างขึ้นในเซลล์ ก่อให้เซลล์บาดเจ็บได้ ดังนั้นทางการแพทย์ จึงยังกังวลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการใช้อัลตราซาวด์ตรวจทารกในครรภ์โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการ แพทย์

ทางการแพทย์จึงแนะนำตรงกันว่า การตรวจทารกในครรภ์ ควรคำนึงถึงข้อบ่งชี้ทางการ แพทย์เสมอ โดยให้ใช้อัลตราซาวด์เฉพาะที่จะเกิดประโยชน์ต่อทารกและมารดา ให้ใช้หลักสากลในการตรวจโรคด้วย รังสี คลื่นแสง คลื่นเสียงต่างๆ กล่าวคือ ให้ใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการใช้เสมอ ซึ่งเรียกกติกานี้ว่า อะลารา (ALARA, As Low As Reasonably Achievable)

อัลตราซาวด์ต่างจากเอกซเรย์และเอมอาร์ไออย่างไร?

อัลตราซาวด์เป็นคลื่นเสียง จึงต่างจากเอกซเรย์ทุกชนิดที่เป็นรังสีประเภทไอออนไนซ์ (รังสีจากการตรวจโรค) และต่างจากเอมอาร์ไอที่เป็นคลื่นแม่เหล็ก และคลื่นวิทยุ ซึ่งส่งผลให้ อัลตราซาวด์มีข้อจำกัดในการตรวจโรคน้อยกว่าทั้ง 2 วิธี ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ประโยชน์และโทษ

เมื่อไหร่จึงควรตรวจอัลตราซาวด์? ตรวจส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?

อัลตราซาวด์ สามารถใช้ตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ) ต่างๆได้เกือบทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ยกเว้นในอวัยวะที่มีอากาศอยู่มาก เช่น ปอด และลำไส้ ในกระดูก และในคนอ้วน/โรคอ้วน เนื่องจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะดังกล่าวให้การสะท้อนเสียงได้ไม่ดี ภาพที่เกิดขึ้นจึงอ่านยาก โอกาสอ่านแปลผลผิดพลาดจึงสูงขึ้น

ตัวอย่างเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่สามารถตรวจภาพได้ด้วยอัลตราซาวด์อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ตา ต่อมไทรอยด์ หัวใจ หลอดเลือด ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ อัณฑะ และเต้านม

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อจะตรวจอัลตราซาวด์? มีขั้นตอนการตรวจอย่างไร?

การตรวจอัลตราซาวด์ โดยทั่วไปมักเป็นการนัดตรวจเมื่อเป็นการตรวจจากแผนกรังสีวินิจ ฉัย แต่ถ้าเป็นการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ เช่น สูติแพทย์ ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ท่านนั้นๆ

ภายหลังการพบเจ้าหน้าที่เพื่อการนัดหมายการตรวจ ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและเอก สารแนะนำในการเตรียมตัว ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ) ที่ต้องการตรวจ บางอวัยวะมีการงดอาหารและน้ำดื่ม บางอวัยวะต้องดื่มน้ำมากๆล่วงหน้าก่อนตรวจ บางอวัยวะไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะที่ตั้งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆไม่เหมือนกัน วิธีการเตรียมตัวดังกล่าว จะช่วยการตรวจให้มีประสิทธิภาพในการเห็นภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆชัดเจนขึ้น และเช่นเดียวกับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ผู้ป่วยควรต้องอ่านเอกสารแนะนำการปฏิบัติตัวในวันตรวจให้เข้าใจในวันนัดหมาย ก่อนออกจากแผนกรังสีวินิจฉัย เมื่อไม่เข้าใจต้องสอบถามเจ้าหน้าที่จนเข้าใจ เพราะการถามแพทย์/พยาบาลหน่วยงานอื่นจะตอบคำถามไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะทาง

ในวันตรวจ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากเอกสารแนะนำ มาถึงแผนกตรวจก่อนเวลานัดประ มาณ 30 นาทีเพื่อขั้นตอนทางเอกสาร หลังจากนั้น เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นของโรงพยาบาล ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า ที่ถอด/ใส่ได้ง่าย

การตรวจอัลตราซาวด์จะให้การตรวจโดยแพทย์ ผู้ป่วยจะนอนหงายสบายๆบนเตียง ไม่มีการฉีดสี แพทย์จะทาผิวหนังในบริเวณที่ตรวจด้วยยาเจล (Gel) เย็นๆเหมือนยาเจลทั่วไป เพื่อช่วยการถ่ายทอดคลื่นเสียงจากเครื่องตรวจ ผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น ในขณะตรวจแพทย์จะกดหัวเครื่องตรวจบนผิวหนัง/ร่างกายส่วนที่จะตรวจเบาๆ เคลื่อนไปจนทั่วเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ตรวจ โดยแพทย์และผู้ป่วยจะมองเห็นภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะจากการตรวจบนจอคอมพิวเตอร์ไปพร้อมๆกัน การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15-45 นาที ขึ้นกับขนาด และตำแหน่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ต้องการตรวจ

เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะเช็ดยาเจลออกจากตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยลุกขึ้น เปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นอันตรวจเสร็จ พบเจ้าหน้าที่รังสี เพื่อนัดหมายการมารับผล หลังจากนั้นกลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ คลุกคลีได้กับทุกคนรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์

โดยทั่วไป ในโรงพยาบาลเอกชน การตรวจด้วยอัลตราซาวด์สามารถทราบผลได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ในโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีผู้ป่วยหนาแน่น อาจทราบผลในระ ยะเวลาประมาณ 3 วันขึ้นไป ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์มักนัดผู้ป่วยฟังผลในวันที่แพทย์เจ้าของไข้ที่ดูแลผู้ป่วยนัดตรวจ

มีข้อห้ามการตรวจอัลตราซาวด์ไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามในการตรวจอัลตราซาวด์ ยกเว้นข้อจำกัดต่างๆดังกล่าวแล้วในหัว ข้อประโยชน์และโทษ และหัวข้อเมื่อไหร่ควรตรวจอัลตราซาวด์ แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรแพทย์ต่างๆขอให้ใช้หลัก ALARA เสมอ โดยเฉพาะในการตรวจทารกในครรภ์

แพทย์อ่านผลตรวจอัลตราซาวด์อย่างไร?

แพทย์ผู้อ่าน/แปลผลตรวจจากอัลตราซาวด์ จะได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมเฉพาะทางถึงวิธีตรวจวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวด์หลังจากจบแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้ว

อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับการตรวจโรคทุกชนิด การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะ (เซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ) ด้วยเทคนิคต่างๆซึ่งรวมทั้งอัลตราซาวด์ *ให้ผลผิดพลาด*ได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคประมาณ *10-15%*

  • โดยเป็นความผิดพลาดในลักษณะที่อาจมีโรคแต่ตรวจไม่พบ
  • หรืออาจไม่มีโรคแต่ให้ภาพว่าน่ามีโรค

ดังนั้นในการวินิจฉัยโรค แพทย์จึงใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งร่วมกัน ไม่ได้ใช้จากวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว ที่สำคัญ คือจาก

  • อาการผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • การตรวจภาพของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ เช่น จากอัลตราซาวด์
  • และอาจจำเป็นต้องมี การตรวจทางพยาธิวิทยา (และ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา) ร่วมอีกด้วย

การตรวจอัลตราซาวด์บ่อยๆเป็นอะไรไหม?

ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อเป็นการตรวจอัลตราซาวด์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ยังไม่มีราย งานที่ยืนยันได้ 100% ว่า มีผลข้างเคียงเกิดกับผู้ป่วยจากการตรวจอัลตราซาวด์ ดังนั้นการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ จึงสามารถตรวจซ้ำได้เสมอ และได้บ่อยตามดุลพินิจของแพทย์

บรรณานุกรม

  1. Moore, C., and Copel, J. (2011). Point-of-care Ultrasonography. N Engl J Med. 364, 749- 754.
  2. https://www.aapm.org/meetings/02AM/pdf/8407-24103.pdf [2018,Dec15]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_ultrasonography [2018,Dec15]
  4. http://americanpregnancy.org/prenatal-testing/ultrasound/ [2018,Dec15]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Ultrasound [2018,Dec15]