อัมพาต 360 องศา: แล้วแม่ผมก็เป็นอัมพาตอีกคนครับ

อัมพาต  360 องศา

เท่าที่ผมทราบครอบครัวของผมมีประวัติเป็นโรคอัมพาตกันหลายคนตั้งแต่รุ่นคุณตา คุณยายแล้วก็มาถึงรุ่นคุณพ่อที่ท่านได้จากเราไปด้วยปัญหาโรคอัมพาต สำลักอาหารแล้วติดเชื้อในปอด นำมาซึ่งภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตอย่างสงบ คุณแม่ผมก็อายุเกือบ 90 ปีเหมือนกัน ก่อนที่คุณพ่อจะจากเราไป คุณแม่ก็แข็งแรงดีอยู่กับคุณพ่ออายุ 92 ปี เพียงสองคนที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา พี่สาวต้องขับรถจากกรุงเทพมาอยู่เป็นเพื่อนท่าน 3-5 วันต่อสัปดาห์ เพราะผู้สูงอายุชอบที่จะอยู่บ้านที่ท่านอยู่มาหลายสิบปีมากกว่าจะไปอยู่บ้านกับลูกๆ ที่กรุงเทพ

พอหลังจากที่คุณพ่อได้จากพวกเราไป พี่สาวผมก็รับคุณแม่มาอยู่ที่กรุงเทพด้วยกัน อยู่มาวันหนึ่งท่านก็เริ่มมีอาการมือ แขน ขาไม่ค่อยมีแรง เริ่มพูดไม่ชัด พี่สาวได้โทรศัพท์มาปรึกษาผม แต่ก็ไม่ทราบเวลาที่เกิดอาการอย่างชัดเจน ประกอบกับคุณแม่มีปัญหาสมองขาดเลือดมาเลี้ยงจุดเล็ก ๆ มานานแล้ว ผมเคยเห็นและจำได้ดีจากการตรวจเอกซเรย์สมองเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนที่ท่านตรวจจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ผมจึงไม่ได้บอกให้พี่สาวรีบพาไปที่โรงพยาบาล เพราะอย่างไรก็ไม่ได้ให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดอยู่แล้ว ผมจึงแนะนำให้พี่สาวผมค่อยๆ ป้อนข้าว เพราะท่านก็มีอาการสำลัก ทานอาหารยากเช่นเดียวกับคุณพ่อ ที่สำคัญให้พยายามทำกายภาพบำบัด โดยการกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวให้มากที่สุด ไม่ให้นอนนิ่งๆ พยายามให้ฝึกนั่ง และคอยบอกว่าตอนนี้เป็นเวลาไหน ใครมาเยี่ยม ช่วงเช้าๆ ให้พามานั่งตากแดดอ่อนๆ การถูกแสงแดดมีความสำคัญมากๆ ในผู้สูงอายุ เพราะท่านจะได้รู้ว่าตอนนี้เป็นเวลาเช้า จะช่วยลดอาการสับสนได้ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น

ก่อนหน้านี้คุณแม่ผมมีปัญหากระดูกพรุน มีการดูกสันหลังระดับเอวหัก ต้องใช้ยาแก้ปวดทั้งแบบทานและพ่นทาจมูกเป็นประจำมาหลายปี แต่พอเป็นอัมพาตต้องทานยาต้านเกร็ดเลือด การทานยาแก้ปวดด้วยก็จะเกิดปัญหาการเสริมฤทธิ์ของยา อาจก่อให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารได้

จึงแนะนำให้พี่สาวผมบอกกับคุณแม่ว่า พยายามไม่ใช้ยาแก้ปวด ค่อยๆ ถอนการรักษาด้วยยาแก้ปวดออก และก็ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดในที่สุด พยายามจับนั่งให้นาน ฝึกให้ถ่ายในห้องน้ำ ลดการถ่ายโดยใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เพราะอาจติดเชื้อได้ง่าย พยายามค่อยๆ ป้อนอาหารที่ไม่สำลัก คือ อาหารที่บดละเอียด น้ำไม่มาก ค่อยๆ ป้อน ทานผักผลไม้ปั่นๆ ให้มาก เพื่อไม่ให้ท้องผูก การขับถ่ายดีขึ้น พี่สาวผมก็ให้การดูแลอย่างดีมาก ผมเองก็ให้คำแนะนำทางโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่ นานๆ ก็ไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกาย ก็ปรากฏว่าคุณแม่มีผลการตรวจเลือดและสภาพร่างกายค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

3 ปีที่ท่านเป็นอัมพาตมา ได้รับการดูแลอย่างดีจากพี่สาวผม โดยไม่เคยต้องเข้าโรงพยาบาลเลย ผมพยายามจะไม่ให้คุณแม่เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล เพราะกลัวเรื่องการสับสนเมื่อนอนโรงพยาบาล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าผู้สูงอายุได้เข้านอนรักษาในโรงพยาบาลก็จะต้องเกิดภาวะสับสนแน่ ซึ่งภาวะสับสนก็จะเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย หลีกเลี่ยงการติดเชื้อในโรงพยาบาล

ผมอยากบอกทุกๆ คนที่ได้อ่านเรื่องนี้ การดูแลผู้สูงอายุด้วยการใส่ใจ เหมือนที่ท่านเคยเลี้ยงดูเราตอนวัยเด็ก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการดูแลในโรงพยาบาลได้อย่างมาก และผมต้องขอบคุณพี่ๆ ผมที่กรุงเทพ คอยดูแลคุณแม่อย่างดีมาตลอด ถึงแม้เราทุกคนจะไม่อยากให้คนที่เรารักเป็นอัมพาตหรือเจ็บป่วยใดๆ แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ครับ เมื่อถึงวันนั้นเราก็ต้องพร้อมในการดูแลคนที่เรารัก เพราะวันหนึ่งในอนาคต เรื่องเหล่านี้ก็จะต้องเกิดขึ้นกับเรา “อัมพาตเป็นโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก หรือคนที่รักเรา แต่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ครับ เหมือนอย่างผม ทั้งคุณพ่อก็จากเราไปด้วยโรคอัมพาต คุณแม่ก็เป็นอัมพาต เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงอัมพาตได้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับอัมพาตอย่างดี “โชคดีครับคนไทยทุกคน”

สมศักดิ์ เทียมเก่า