อัมพาต 360 องศา: ตอน ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต

อัมพาต  360 องศา

โรคอัมพาตใครก็ไม่อยากเป็น เพราะเป็นแล้วมีโอกาสพิการได้สูง ในอดีตเป็นที่ทราบกันดีว่าใครเป็นอัมพาตก็มีโอกาสหายได้น้อยมาก แต่ในปัจจุบันการรักษาโรคอัมพาตมีแนวทางการรักษาที่ดี ผู้ป่วยมีโอกาสหายได้สูง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ว่าถ้าตนเองหรือคนที่รู้จักเป็นอัมพาตต้องทำสิ่งต่อไปนี้

  1. ต้องมีความรู้ว่าโรคอัมพาตมีอาการอะไรบ้าง อาการที่พบบ่อย คือ ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง พูดลำบาก พูดไม่ชัด โดยมีอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
  2. เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในข้อ 1 อย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบมาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือโทร 1669 หรือโทรศัพท์ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านให้รถโรงพยาบาลรีบมารับไปโรงพยาบาลกรณีทราบว่าโรงพยาบาลใดสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ และผู้ป่วยรู้สึกตัวดีก็ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดโดยตรงก็ได้
  3. เมื่อถึงโรงพยาบาลให้บอกพยาบาลที่จุดคัดกรองผู้ป่วยว่ามีอาการโรคอัมพาตอะไรบ้าง เริ่มเป็นเวลากี่โมง เรื่องเวลานี้มีความสำคัญมากต้องจำให้แม่น เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการวางแผนการรักษาของแพทย์
  4. ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลการเจ็บป่วย การใช้ยาประจำ โรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุ ปัสสาวะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด และอื่นๆ ตามที่แพทย์หรือพยาบาลสอบถาม
  5. เตรียมปรึกษาญาติพี่น้อง ถ้าผลการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด จะรับยาละลายลิ่มเลือดต่อหรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาถ้าแพทย์มาถามว่าจะให้การรักษาอย่างไร จะได้ตัดสินใจบอกแพทย์ได้ทันที เพราะยิ่งเร็วที่สุดเท่าไรก็ยิ่งมีผลต่อสมองมีโอกาสหายมากขึ้น
  6. ตั้งใจฟังคำอธิบายของแพทย์ที่บอกเกี่ยวกับข้อดีของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด และข้อเสียของการรับยาละลายลิ่มเลือด ตัดสินใจวิธีการรักษา
  7. เมื่อเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พยายามทำใจให้สบายมากที่สุด เพื่อให้สัญญาณชีพปกติ จะส่งผลดีต่อการรักษา
  8. หมั่นทำกายภาพบำบัด พยายามเคลื่อนไหวร่างกายตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ โดยสรุปถ้ามีอาการสงสัยว่าตนเองเป็นอัมพาต สิ่งแรกที่ควรทำ คือ หาวิธีที่จะมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด จำไว้ว่า “ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต”